กรุงเทพฯ 7 ส.ค.-กฟผ.ร่วมกับ CSIRO (Commonwealth Scientific & Industrial Research Organisation : CSIRO) ประเทศออสเตรเลีย บันทึกข้อตกลงความเป็นไปได้ทางธุรกิจด้านระบบกักเก็บพลังงานในประเทศไทยตอกย้ำความร่วมมือทางธุรกิจด้านระบบกักเก็บพลังงาน และพลังงานไฮโดรเจน ขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในประเทศไทย สู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนอย่างยั่งยืน
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) Dr.Dietmar Tourbier ผู้อำนวยการหน่วยธุรกิจพลังงาน องค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (Commonwealth Scientific & Industrial Research Organisation : CSIRO) ประเทศออสเตรเลีย ร่วมบันทึกข้อตกลงความเป็นไปได้ทางธุรกิจด้านระบบกักเก็บพลังงานในประเทศไทย
ทั้งนี้ ปัจจุบันการเปลี่ยนผ่านของภาคพลังงานทั่วโลก มุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ถือเป็นโอกาส และความท้าทายของทุกประเทศ ที่ต้องเร่งเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ในขณะที่ยังต้องรักษาความมั่นคง ความยืดหยุ่นและคุณภาพของระบบไฟฟ้าควบคู่ไปด้วย กฟผ. จึงมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยผลักดันให้บรรลุเป้าหมาย ที่สำคัญคือ ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage Systems) และการนำไฮโดรเจนมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า โดยตั้งแต่ปี 2565 กระทรวงพลังงาน ได้ร่วมมือกับสถานฑูตออสเตรเลียในหลากหลายกิจกรรมด้านพลังงาน หนึ่งในนั้นคือด้านระบบกักเก็บพลังงาน และเทคโนโลยีไฮโดรเจน
กฟผ. ในฐานะหน่วยงานด้านพลังงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน จึงได้ร่วมมือกับ CSIRO ผ่านบันทึกข้อตกลงความเป็นไปได้ทางธุรกิจด้านระบบกักเก็บพลังงานในประเทศไทย โดยจะร่วมกันศึกษาระบบกักเก็บพลังงานเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับพลังงานหมุนเวียน ครอบคลุมการออกแบบและความปลอดภัยของระบบกักเก็บพลังงานรวมถึงการศึกษาถึงห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของระบบกักเก็บพลังงาน นอกจากนี้ยังจะร่วมกันศึกษาเกี่ยวกับเชื้อเพลิงไฮโดรเจน ทั้งด้านการผลิต การกักเก็บ การขนส่ง รวมถึงการนำไฮโดรเจนมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าภายในระยะเวลา 1 ปีของความร่วมมือ
CSIRO เป็นหน่วยงานวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติออสเตรเลีย หนึ่งในองค์กรวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดและหลากหลายที่สุดในโลก เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ มีผลการศึกษาวิจัยที่ช่วยสนับสนุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ให้สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตและใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงระบบพลังงานของโลก มีความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม และหน่วยงานวิจัย ดูแลจัดการโครงสร้างงานวิจัยและรวบรวมงานวิจัยของประเทศ ศึกษาและใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์รับมือกับความท้าทายที่ออสเตรเลียต้องเผชิญนอกเหนือจากด้านพลังงาน.-สำนักข่าวไทย