กรุงเทพ 20 มิ.ย.- ส.อ.ท.จับมือ กนอ. หนุนผู้ประกอบการจัดการของเสียที่ได้รับรองมาตรฐาน Eco Factory ให้ได้ครบ 100% ในปี 2568
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมแสดงเจตนารมณ์การส่งเสริมการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน โดยส.อ.ท. และ กนอ. มีความร่วมมือในการพัฒนามาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) ตั้งแต่ปี 2560 และในปี 2565 ร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม พัฒนามาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศสำหรับสำหรับผู้ประกอบการจัดการของเสีย (Eco Factory For Waste Processor) ขึ้น เพื่อให้การรับรองแก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานประเภท 101, 105 และ 106 ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการในด้านการบำบัด กำจัด หรือ รีไซเคิล กากอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มีการปฏิบัติตามกฎหมาย
ทั้งนี้ได้มีการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันระหว่าง 4 ฝ่าย ได้แก่ ส.อ.ท. กนอ. กลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม และ ผู้ประกอบการจัดการของเสียอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดการของเสีย (Waste Processor) ได้รับรองมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศสำหรับผู้ประกอบการจัดการของเสีย (Eco Factory for Waste Processor) ครบ 100% ภายในปี 2568 ซึ่งปัจจุบัน กนอ.และ ส.อ.ท. ได้ให้การรับรองโรงงานอุตสาหกรรมภายใต้มาตรฐาน Eco Factory จำนวน 379 แห่ง และมาตรฐาน Eco Factory for Waste Processor จำนวน 9 แห่ง และอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมจำนวน 18 แห่ง
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท. มีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศไทยให้เป็นไปอย่างยั่งยืน เกิดสมดุลในด้านเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดรับกับนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนแบบ BCG ของรัฐบาล ด้าน Green Economy และ Circular Economy ส.อ.ท. ได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและผลักดันให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโดยเฉพาะสมาชิกของ ส.อ.ท. มีการจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างถูกวิธีและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่าและปลอดภัย และส่งเสริมให้สมาชิกในกลุ่มผู้รับบำบัด กำจัดของเสีย ยกระดับมาตรฐานการจัดการกากอุตสาหกรรมด้วยตราสัญลักษณ์ Eco Factory For Waste Processor รวมถึงพัฒนาแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนของเสีย (Circular Material Hub) เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้วและผลิตภัณฑ์พลอยได้ โดยอาศัยแนวคิดการเปลี่ยน waste จากอุตสาหกรรมหนึ่ง ไปเป็นวัตถุดิบ หรือ Materials ให้อีกอุตสาหกรรมหนึ่ง ตามหลัก Circular Economy
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า เพื่อขยายผลความร่วมมือดังกล่าว และเป็นการจูงใจให้ผู้ประกอบการมีการดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและขอรับรองมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) เพิ่มมากขึ้น กนอ. ได้ประกาศสิทธิประโยชน์/มาตรการจูงใจต่อการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ สำหรับผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมและผู้ประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม โดยผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) ระดับ 3 ขึ้นไป หรือธงขาวดาวทอง จะได้รับการลดหย่อนหรือยกเว้นค่าบริการคำขอด้านการใช้ที่ดินและประกอบกิจการ และด้านสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 – 30 กันยายน 2567 โดยสามารถยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ผ่านระบบอนุมัติอนุญาตอิเล็กทรอนิกส์ (e-Permission Privilege : e-PP) ของ กนอ.
ทั้งนี้ ในภาคส่วนของผู้ประกอบกิจการภาคอุตสาหกรรม ได้ประกาศเจตนารมณ์พร้อมทั้งแสดงจุดยืนภายในงานเพื่อเน้นย้ำความมุ่งมั่นขององค์กรที่มีต่อการส่งเสริมการบริหารจัดการโซ่อุปทานอย่างยั่งยืนด้วยการเลือกใช้ผู้ประกอบการจัดการของเสียที่ได้รับรอง Eco Factory for Waste Processor
นายปรีดา วัชรเธียรสกุล Vice President-Manufacturing บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า SCGC ขอเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมผลักดัน Sustainable supply chain ด้วยการเลือกใช้ผู้ประกอบการจัดการของเสียที่ได้รับรองตราสัญลักษณ์ Eco Factory For Waste Processor ซึ่งปัจจุบัน SCGC ได้สื่อสารไปยังคู่ค้าในเรื่องของนโยบายการพิจารณาใช้บริการผู้รับกำจัดของเสียที่ได้รับรองมาตรฐาน Eco Factory for Waste Processor เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการบริหารจัดการของเสีย ตลอดทั้ง Supply chain ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป
นายประนาช โกศายานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลยุทธ์ แผนและพัฒนาธุรกิจองค์กร บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า IRPC มีความุ่งมั่นและยินดีอย่างยิ่งที่ร่วมเป็นกำลังขับเคลื่อน ผลักดัน และสนับสนุนการบริหารจัดการโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน โดยในฐานะของผู้ก่อกำเนิดของเสีย (Waste Generator) จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดการของเสียที่เป็นคู่ค้าธุรกิจขอรับรองมาตรฐานโรงงานได้รับรองมาตรฐาน Eco Factory for Waste Processor อีกทั้งจะเลือกใช้ผู้ที่ได้รับตราสัญลักษณ์ดังกล่าว
นายเสขสิริ ปิยะเวช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานคุณภาพความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า GC ตระหนักถึงการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน จึงขอร่วมส่งเสริมนโยบายดังกล่าว และพร้อมที่จะดำเนินการตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ภายในปี 2569
นายชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) และในนามผู้แทนกลุ่มอุตสาหกรรม ร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์ 11 กลุ่มอุตสาหกรรม ภายใต้การกำกับดูแลของ ส.อ.ท. กล่าวว่า ความมุ่งมั่นดำเนินอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Becoming Environmental Friendly Industry) และมีความรับผิดชอบต่อสังคม (Committed to Social Responsibility Engagement) จึงมีความยินดีอย่างยิ่งที่ร่วมเป็นกำลังขับเคลื่อน ผลักดัน และสนับสนุนการบริหารจัดการโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน (Sustainable Supply Chain) ด้วยการเลือกใช้ผู้ประกอบการจัดการของเสียที่ได้รับการรับรองมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศสำหรับผู้ประกอบการจัดการของเสีย (Eco Factory for Waste Processor) และด้วยบทบาทหน้าที่ของการประกอบกิจการภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นทั้งผู้ก่อกำเนิดของเสีย (Waste Generator) และเป็นผู้บำบัดกำจัดของเสีย (Waste Processor) จึงมีเป้าหมายการขับเคลื่อนร่วมกัน ในบทบาทที่แตกต่างกัน ดังนี้
1) เป้าหมายการส่งเสริมในฐานะของผู้ก่อกำเนิดของเสีย (Waste Generator) จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดการของเสียที่เป็นคู่ค้าธุรกิจขอรับรองมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศสำหรับผู้ประกอบการจัดการของเสีย (Eco Factory for Waste Processor) อย่างน้อยในระดับพื้นฐาน (Beginner) และ/หรือสนับสนุนการเลือกใช้บริการผู้ประกอบการจัดการของเสียอุตสาหกรรมที่ได้รับรองมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศสำหรับผู้ประกอบการจัดการของเสีย (Eco Factory for Waste Processor) ภายในระหว่างช่วงปี 2568-2569 ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประโยชน์สูงสุด ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมทั้งสอดคล้องตามนโยบาย BCG ของภาครัฐ นำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน
2) เป้าหมายการส่งเสริมในฐานะของผู้บำบัดกำจัดของเสีย (Waste Processor) จะมุ่งสู่การขอรับรองมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศสำหรับผู้ประกอบการจัดการของเสีย (Eco Factory for Waste Processor) อย่างน้อยในระดับพื้นฐาน (Beginner) ภายในปี 2568 ตามนโยบายการส่งเสริมของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมถึงการยกระดับการรับรองอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับสู่ Sustainable Supply Chain ต่อไป.-สำนักข่าวไทย