พระนครศรีอยุธยา 5 มิ.ย.-ความคืบหน้าการเปิดประเด็นสติกเกอร์ส่วยรถบรรทุกจนนำไปสู่การย้ายผู้การทางหลวง ล่าสุด “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” เตรียมส่งหลักฐานที่รับมาจากสหพันธ์การขนส่งทางบกฯ ไปถึงมือจเรตำรวจแห่งชาติและรักษาการผู้ว่าการทางหลวง เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ขณะที่สัปดาห์นี้ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม จะลงพื้นที่สถานีตรวจสอบน้ำหนักอยุธยา ทางหลวงหมายเลข 347 เพื่อดูภาพรวมการทำงานอย่างโปร่งใส
นายมนตรี เดชาสกุลสม ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม จะลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีเรียกรับสินบนเจ้าหน้าที่โดยการติดสติกเกอร์บนรถบรรทุก ที่สถานีตรวจสอบน้ำหนักอยุธยา (ขาเข้า) ทางหลวงหมายเลข 347 และดูการดำเนินงานและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ประจำสถานี ดูการทำงานของระบบ WIM และดูหน่วยชั่งน้ำหนักเคลื่อนที่ (Spot Check) เพื่อดูการทำงานอย่างโปร่งใส
นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม ประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการติดสินบนเจ้าหน้าที่โดยการติดสติกเกอร์บนรถบรรทุก ครั้งที่ 1/2566 ระบุว่า ขณะนี้ได้แต่งตั้งคณะทำงานย่อย เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และรวบรวมเอกสารพยานหลักฐานต่างๆ จากบุคคล เพื่อนำกลับมารายงานผลอีกครั้ง 9 มิ.ย.นี้ จากการชี้แจงของกรมทางหลวงเกี่ยวกับข้อกล่าวหาของการรับสินบน แลกกับการยกเว้นตรวจสอบน้ำหนักรถบรรทุกนั้น เบื้องต้นทราบว่ากรมทางหลวงติดตั้งด่านตรวจน้ำหนักรถบรรทุก ซึ่งใช้ระบบเทคโนโลยีเข้ามาตรวจจับน้ำหนักตั้งแต่ปี 2549 ปัจจุบันมีด่านเปิดใช้งานแล้ว 97 ด่าน และมีแผนจะพัฒนาเพิ่มเป็น 128 ด่านทั่วประเทศ ทางหลวงใช้ระบบไอที มาตรวจจับน้ำหนักรถบรรทุก ดังนั้น ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการติดสติ๊กเกอร์ แลกกับการไม่ตรวจชั่งน้ำหนักคงไม่ใช่ เพราะหากรถเข้าด่านแต่มีน้ำหนักเกินกำหนด หากติดสติกเกอร์เครื่องก็ตรวจจับน้ำหนักได้อยู่แล้ว และเมื่อพบว่ามีน้ำหนักเกิน ต้องถูกเรียกปรับตามกฎหมายกำหนด
ด้านนายจิระพงศ์ เทพพิทักษ์ รองอธิบดีฝ่ายบำรุงทาง กรมทางหลวง กล่าวว่า ปัจจุบันกรมทางหลวงไม่ได้ใช้ระบบคนตรวจสอบน้ำหนักรถบรรทุกแต่เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้น คงไม่เกี่ยวว่ารถที่มีสติกเกอร์เท่านั้นที่จะผ่านด่านตรวจน้ำหนัก เพราะระบบอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ตรวจจับที่น้ำหนักไม่ได้ยกเว้นสติกเกอร์ และหากตรวจจับน้ำหนักแต่ละคันมีผลอย่างไร ระบบหน้าด่านจะส่งผลมายังศูนย์ควบคุมกลางเพื่อเปรียบเทียบปรับ
ส่วนกรณีที่มีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐเอื้อประโยชน์ ปัจจุบัน ทล.ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจชั่งน้ำหนัก โดยมีการสลับพื้นที่หัวหน้าด่านฯ ซึ่งเป็นข้าราชการประจำหน่วยทุกๆ 8 เดือน ป้องกันการกระทำผิด ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและตอบข้อสงสัยของสังคม ทล.จะแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณาจากนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เป็นผู้ลงนามคำสั่งแต่งตั้ง”
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเกี่ยวกับการกระทำผิดส่วยบรรทุก มีนายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดี ขบ. และโฆษก ขบ. เป็นประธาน เพื่อรวบรวมข้อมูลตรวจสอบเกี่ยวกับการร้องเรียนหรือกระแสสังคมที่มีการะทำผิดกรณีส่วยรถบรรทุกหรือรถขนส่งสาธารณะทุกประเภทที่ ขบ. กำกับและดูแล ซึ่งต้องดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 15 วัน จากนั้นให้นำเสนอตน ก่อนจะเสนอกระทรวงคมนาคมให้รับทราบต่อไป.-สำนักข่าวไทย