กรุงเทพฯ 2 มิ.ย. – ตลท. เผย 80 % นักลงทุนกลุ่ม PT/HFT ในไทย อยู่ใน SET 100 ชี้กำหนดเกณฑ์ต้องลงทะเบียนก่อนซื้อขาย เพื่อควบคุมความเสี่ยงการลงทุน ภาพรวมตลาด
ฝ่ายกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เผยแพร่บทความวิจัย เรื่อง “PROGRAM & HIGH FREQUENCY TRADING และแนวทางกำกับดูแลของตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาค” ผ่านทาง SET NOTE โดยระบุว่า การส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์อัตโนมัติโดยประมวลผลและตัดสินใจซื้อขายด้วยโปรแกรม หรือ program trading (PT) เป็นที่นิยมกันมากในกลุ่มนักลงทุนสถาบันทั่วโลก เพราะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งคำสั่งซื้อขาย โดยนักลงทุนกลุ่ม high-frequency trading (HFT) จัดเป็นนักลงทุน program trading ประเภทหนึ่ง ซึ่งใช้กลยุทธ์ที่เน้นความเร็วสูง และไม่นิยมถือครองหลักทรัพย์ไว้นาน โดย HFT คิดเป็นประมาณ 50% ของมูลค่าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในสหรัฐฯ และประมาณ 24-43% ของมูลค่าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในยุโรป ในปี 2020 และ 9% ของมูลค่าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ไทยในปี 2022
จากพฤติกรรมของ HFT program ในตลาดหลักทรัพย์ไทยในปี 2022 พบว่า 80% ของมูลค่าซื้อขายทั้งหมด กระจุกตัวอยู่เฉพาะในหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ (กลุ่ม SET100) และ 96% ของจำนวนหลักทรัพย์ใน SET100 มี HFT ร่วมซื้อขายอยู่เพียงไม่เกิน 15% ของมูลค่าซื้อขายในแต่ละหลักทรัพย์ ส่วนหลักทรัพย์ขนาดกลางและเล็ก (กลุ่มนอก SET100) พบว่าเกือบทั้งหมดมี HFT ร่วมซื้อขายอยู่ไม่เกิน 10%
ตลาดหลักทรัพย์สำคัญในภูมิภาค ทั้งตลาดหลักทรัพย์ที่เน้นฐานนักลงทุนสถาบัน อาทิ ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง สิงคโปร์ และที่เน้นฐานนักลงทุนบุคคล (มีสัดส่วนนักลงทุนบุคคล 35-80% ในแต่ละตลาด) อาทิ ตลาดหลักทรัพย์เกาหลี ไต้หวัน มาเลเซีย อินโดนีเซีย ปฏิบัติต่อนักลงทุนกลุ่ม PT/HFT เหมือนนักลงทุนทั่วไป สามารถซื้อขายได้ทุกหลักทรัพย์และไม่คิดค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมจากการเป็นนักลงทุนประเภทนี้ รวมถึงไม่มีการใช้ระบบใดๆ เพื่อชะลอความเร็วของคำสั่งซื้อขายที่ส่งมา
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การกำกับดูแลและควบคุมความเสี่ยงจากการส่งคำสั่งด้วย program trading รัดกุมยิ่งขึ้น ตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ในภูมิภาค รวมถึงไทย กำหนดให้ PT/HFT ต้องลงทะเบียนก่อน จึงสามารถส่งคำสั่งซื้อขายเข้ามาได้ เพื่อช่วยให้การกำกับดูแลและควบคุมความเสี่ยงรัดกุมยิ่งขึ้น รวมถึงมีข้อปฏิบัติเพื่อการบริหารความเสี่ยงที่บริษัทหลักทรัพย์ต้องปฏิบัติตาม เพื่อการตรวจจับคำสั่งซื้อขายที่อาจส่งผิด พลาดโดยไม่ตั้งใจ หรือป้องกันการส่งคำสั่งในรูปแบบที่ไม่เหมาะสม ซึ่งอาจกระทบต่อภาพรวมตลาดได้.-สำนักข่าวไทย