กรุงเทพฯ 18 เม.ย. – นักวิชาการชี้ไม่มี “ปรอทป่า” ใช้แก้คุณไสย เชื่อเป็นธาตุ ”ปรอท” ปกติ หาซื้อได้ตามร้านสารเคมี ระบุสัมผัส “ปรอท” โดยตรงอันตรายสูง ทำลายระบบประสาท-เลือด แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตักเตือน หวั่นสร้างอันตรายให้ผู้สัมผัส
รศ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีพระสงฆ์ สำนักปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่งใน จ.ชัยภูมิ อ้างพบ “ปรอทป่า” ในธรรมชาติ มีอิทธิฤทธิ์ป้องกันคุณไสย ไล่ผีปอบ และยังจับต้องได้ ไม่เป็นอันตราย ไม่เหมือนธาตุปรอททางวิทยาศาสตร์ว่า จากการดูคลิปวิดีโอของวัดดังกล่าวที่มีการแชร์กัน เชื่อว่าเป็นโลหะปรอทธรรมดาที่สามารถซื้อหาได้จากผู้จำหน่ายสารเคมีทางวิทยาศาสตร์ หรืออยู่ในเทอร์โมมิเตอร์ ซึ่งโลหะปรอท เมื่ออยู่ในอุณหภูมิห้องจะมีลักษณะเป็นของเหลว ไหลไปมาเหมือนน้ำได้ พร้อมยืนยันว่าโลหะปรอท ในชื่อของธาตุทางวิทยาศาสตร์ มีเพียงชนิดเดียว แต่ปรอทเป็นโลหะที่รวมตัวกับธาตุอื่นได้ง่าย ที่เรียกว่า “อะมัลกรัม” เช่น ปรอทที่นำมาใช้ผสมกับธาตุอื่นแล้วเอามาใช้อุดฟัน ซึ่งมีพิษน้อยจนไม่เกิดอันตรายต่อร่างกาย หรือหากจะเป็นปรอทจากธรรมชาติจริงๆ จะต้องเป็นปรอทที่อยู่ในสินแร่ อยู่ใต้ดิน จะเป็นปรอทอีกรูปแบบ แต่ไม่มีคำว่า “ปรอทป่า” แต่อย่างใด
ทั้งนี้ หากสัมผัสปรอทโดยตรงจะมีอันตราย เพราะมีความเป็นพิษสูง สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งจากการสัมผัส หรือสูดดมไอระเหย หากเข้าสู่ร่างกายจะกำจัดออกยากมาก โดยจะเข้าไปจับกับเม็ดเลือด และทำลายอวัยวะต่างๆ ที่มันเดินทางไป ทั้งในระบบประสาท ระบบเลือด สมอง ตับ ไต หรือแม้กระทั่งทางผิวหนัง เมื่อสัมผัสโดยตรงผิวหนังจะถูกทำลาย เห็นได้จากมือของผู้สัมผัสจะเกิดสีดำขึ้นมา
รศ.เจษฎา ยังกล่าวอีกว่า อันตรายที่เกิดขึ้นกับกรณีนี้จะเกิดขึ้นได้ทั้งกับผู้ที่ทำพิธี หรือผู้เข้าร่วมพิธี ที่มีการนำปรอทมาสัมผัสตามตัว หรือสูดดมไอระเหย โดยอาการที่จะเกิดขึ้นมีทั้งแบบเฉียบพลันและพิษเรื้อรัง ซึ่งคนที่อ้างว่าได้สัมผัส “ปรอทป่า” แล้วไม่เห็นเกิดอาการใดๆ ในทันที อาจเป็นเพราะปริมาณยังไม่มากพอ แต่หากเข้าไปร่วมพิธีบ่อยๆ จะเกิดการสะสม แล้วส่งผลอันตรายต่อร่างกาย
พร้อมฝากไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ต้องส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปเตือนประชาชนถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้น ขณะที่หน่วยงานทางศาสนาจะต้องเข้าไปตักเตือนพระสงฆ์ เพราะมองว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม มีความเสี่ยงและอันตราย ขณะที่คนในสังคมจะต้องมีการทำความเข้าใจเรื่องปรอทกันอีกครั้งหนึ่ง โดยในอดีตปรอทเคยอยู่ทั้งในวัฒนธรรมทางตะวันตกหรือตะวันออก เพราะถูกมองว่าเป็นธาตุบริสุทธิ์ ทางตะวันตกเคยนำปรอทมาใช้เป็นยารักษาโรค แต่เมื่อทางวิชาการเรียนรู้มากขึ้น และรับรู้ถึงอันตราย เช่น ในญี่ปุ่น มีการปนเปื้อนปรอทในแหล่งน้ำอุตสาหกรรมจนเกิดโรค “มินามาตะ” ผู้คนได้รับบาดเจ็บมากมาย ความเชื่อผิดๆ เหล่านี้จึงต้องมีการปรับเปลี่ยน.-สำนักข่าวไทย