กรุงเทพฯ 4 เม.ย. – ธนาคารกรุงไทยขับเคลื่อนแผนงาน 5 ปี พ.ศ. 2566-2570 ภายใต้ยุทธศาสตร์ 7ข้อเพื่อรับภูมิทัศน์ใหม่ทางการเงินจากโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวในงาน CEO Vision : Business Strategy 2023 ที่สาธารณรัฐเอสโตเนีย ระหว่างนำคณะสื่อมวลชนศึกษาดูงานด้าน e-Governance และเทคโนโลยีภาครัฐและเอกชน
ทั้งนี้ธนาคารกรุงไทยกำหนดแผนงาน 5 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2566-2570 ซึ่งเป็นทิศทางการดำเนินธุรกิจธนาคารในระยะต่อไป ตามการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ทางการเงินใหม่ที่เปิดกว้าง 3 ด้านคือ
- Open Infrastructure การเปิดกว้างทางโครงสร้างพื้นฐาน
- Open Data การเปิดกว้างของข้อมูล
- Open Competition การเปิดกว้างทางการแข่งขัน
สำหรับแผนงาน 5 ปีของกรุงไทยที่กำหนดเพื่อรองรับการเปิดกว้าง 3 ด้านอยู่ภายใต้ 7 ยุทธศาสตร์หลัก ดังนี้
1. ปลดล็อคศักยภาพในการสร้างมูลค่าจากการทำธุรกิจกับคู่ค้าของลูกค้า (X2G2X) เร่งต่อยอดยุทธศาสตร์ X2G2X ให้เกิดการเชื่อมโยงในเชิงลึกในกลุ่มลูกค้าต่างๆ ทั้ง B2B B2C G2B และ G2C และมีแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์คู่ค้าของลูกค้า ทั้งการเร่งสร้าง Economic Value จากแอปฯ เป๋าตัง และถุงเงิน เสริมศักยภาพผู้ประกอบการ SME ให้แข็งแกร่ง ต่อยอดความร่วมมือที่ได้ลงทุนไปแล้วทั้งระบบ Smart Transit ตั๋วร่วม Smart Hospital และ Digital Business Platform เป็นต้น
2. ขับเคลื่อนประสิทธิภาพองค์กรด้วยดิจิทัลและข้อมูล เร่งนำข้อมูลและเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ ปรับปรุงกระบวนการทำงานให้เป็น Process Digitalization โดยนำระบบ RPA หรือ Robotic Process Automation และการใช้ AI เข้ามาใช้ในกระบวนการทำงานภายในของธนาคารมากขึ้น ทำให้การทำงานรวดเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการใช้กระดาษ (Paperless) นำไปสู่โครงสร้างการประเมินอัตรากำลังที่เหมาะสมในการให้บริการผ่านสาขา ผสมผสานการให้บริการออนไลน์สู่ออฟไลน์ได้เต็มศักยภาพ โดยช่องทางสาขาจะถูกปรับเป็นการให้บริการทางธุรกิจ และอยู่ระหว่างการทดสอบในพื้นที่ EEC ซึ่งไม่เกิน 2-3 เดือนจะได้เห็นรูปแบบใหม่ หรือการ Modernize ของสาขาใหม่ นำร่อง 20 สาขา ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่ เช่น ชลบุรี เชียงใหม่โดยจะใช้ระบบ e-Solution เปลี่ยนกระบวนการให้บริการในสาขาให้ทันสมัยตอบโจทย์ นำประสิทธิภาพของข้อมูลมาตอบสนองความต้องการของลูกค้าครบทั้งออนไลน์และออฟไลน์
เมื่อประชาชนเข้าไปใช้บริการจะเห็นถึงความแตกต่างใหม่ อาทิ การทำธุรกรรมทั้งหมด พนักงานในสาขาให้บริการด้วยแทบเล็ต ระบบเคาน์เตอร์จะลดลง ใช้ระบบสมาร์ทคิวเพื่อลดการเข้าคิว และช่วยให้ลูกค้าจบกิจกรรมได้รวดเร็ว โดยกิจกรรมสาขาบางจุดจะตอบโจทย์ SMEs ด้วย โดยเปลี่ยนช่องทางให้บริการรายย่อยเป็นช่องทางให้คำแนะนำผู้ประกอบธุรกิจและอาชีพอิสระ
การรอคิวน้อยลง คนสามารถรู้สึกว่า จุดบริการแบงก์รู้จักเขามากขึ้น ตอบโจทย์เขามากขึ้น ระหว่างที่รอเขาได้รับบริการโซลูชั่นครบถ้วนแบบที่ทันสมัย
ทั้งนี้ ธนาคารกรุงไทยชะลอแผนการปิดสาขาออกไปชั่วคราวก่อน เพราะต้องพิจารณาเรื่องการตอบโจทย์สังคมด้วย โดยมีการสำรวจว่าแม้สาขาที่ไม่กำไร แต่ตั้งอยู่ในจุดที่ประชากรในบริเวณรัศมี 4 – 10 กิโลเมตร ไม่มีธนาคารเลย ทางกรุงไทยก็จะยังไม่รีบปิด ถือเป็นสิ่งที่เราดูแลและให้ความสำคัญให้บริการครอบคลุม โดยไม่ได้เน้นกำไรเต็มที่จนทำให้ภาคพื้นที่บางส่วนเหลื่อมล้ำขึ้นมาในการเข้าถึงบริการทางการเงิน
3. เปิดตัวแพลตฟอร์ม เพื่อสร้างการเติบโตในมิติใหม่ พัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่สามารถ ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบวงจร ทั้ง Virtual Banking ที่ธนาคารจะร่วมกับพันธมิตร เพื่อดำเนินการ และโฟกัสไปที่ Wealth-Tech เพื่อเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและบริการทางการเงินในทุกระดับชั้น ต่อยอดสร้างศักยภาพการออม เสริมสร้างความมั่งคั่งให้คนไทย เรามีโอกาสเติบโตมาก เพราะเรามีกลุ่มลูกค้า ในเซคเมนท์เวลธ์ที่ต่างกว่าแบงก์คู่เทียบค่อนข้างเยอะ เราถึงมองเป็นโอกาส เร่งสร้างแพลทฟอร์มครอสเซลกลุ่มลูกค้า
ส่วนความคืบหน้าเรื่อง Virtual Bank หรือธนาคารเสมือนจริง (Virtual Bank) ที่ได้ลงนาม MOU กับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) เพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ให้บริการ Virtual Bank ขณะนี้รอธนาคารแห่งประเทศไทยออกเกณฑ์ โดยธนาคารกรุงไทยกับเอไอเอสเตรียมความพร้อม รูปแบบจะเป็นการตั้งบริษัทใหม่ลงทุนร่วมกัน และตั้งใจจะเป็นหนึ่งในองค์กรที่พร้อมยื่นไลเซนส์รายแรกๆ
4. เน้นเรื่อง Sustainability การตอบโจทย์เรื่อง Climate Change สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างครอบคลุม เท่าเทียม และยั่งยืน ขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวทาง ESG สนับสนุนประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม โปร่งใส ลดความเหลื่อมล้ำ ลดช่องว่างการกระจายรายได้ เชื่อมโยงกลุ่มลูกค้า SME ที่มี 1.5 – 1.6 ร้านค้าทั่วประเทศ กับ Digital Economy และเร่งปรับตัวเข้าสู่กลุ่มอุตสาหกรรม New S-Curve เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน
5. พัฒนาและเสริมสร้างขีดความสามารถการทำงานแห่งอนาคต เร่งสร้างการบริหารความเสี่ยงที่ มีประสิทธิภาพ ทั้งด้านความพร้อมของระบบรองรับ PDPA & Cyber Risk เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า ทุกกลุ่ม บริหารจัดการ NPL และ NPA เพื่อแก้ปัญหาปรับแป็นสินทรัพย์ที่สร้างคุณค่าในเวลารวดเร็วขึ้น พร้อมบูรณาการบริษัทในเครือ สร้างประโยชน์จากสินทรัพย์ให้เต็มศักยภาพ บนความร่วมมือแบบ ONE Krungthai
6. ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีหลักขององค์กร ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้าน IT และ Digitalization อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับโครงสร้างเทคโนโลยีให้มีความทันสมัย มั่นคง ปลอดภัย มีเสถียรภาพ มีประสิทธิภาพและสามารถรองรับจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นในอนาคต เพื่อสนับสนุนการส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าด้วยต้นทุนที่เหมาะสม
7. ปฏิรูปวัฒนธรรมและปลูกฝังวิธีการทำงานแบบใหม่เพื่อขับเคลื่อนองค์กรด้วยความคล่องตัว ปรับวิธีการทำงานรูปแบบใหม่ให้เป็นไปในลักษณะ Agility มีความกระฉับกระเฉง โดยอาศัยหลักการแบบ Fail Fast Learn Fast ยกระดับพนักงานให้มีทักษะใหม่ๆ (Upskill/Reskill) สามารถดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถในระดับประเทศและระดับโลกเข้ามาทำงานเสริมสร้างความแข็งแกร่ง เป็นองค์กรแห่งการสร้างผู้นำในอนาคต
ทั้ง 7 ยุทธศาสตร์นี้ ธนาคารกรุงไทย มุ่งหน้าสู่ปี 2027 เน้นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนอย่างเหมาะสม สร้าง Economic Value โดยโครงสร้างกำไรสุทธิต้องมาจากต้นทุนและรายได้ที่เหมาะสม หลายบริบทของธนาคารกรุงไทยไม่ได้เน้นกำไรมหาศาล (Maximize Profit) แต่เน้นสร้างมูลค่าเพิ่มหรือกำไรอย่างยั่งยืน (Optimize Profit) ตระหนักถึงคู่ค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตั้งแต่รัฐในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่และประชาชนคนไทย ทำให้เห็นว่า ธนาคารกรุงไทยเป็นกลไกหนึ่งสนับสนุนภารกิจของรัฐบาล ประชาชน ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการไทย แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือ การเร่งลงทุนด้านไอทีดิจิทัลมีต้นทุน (cost) สูงขึ้น แม้การลงทุนเรื่องนี้เป็น asset แต่จะต้องวางสัดส่วนการลงทุนให้สอดประสานสมดุลกับการเติบโตของรายได้ ดังนั้นต้องไม่ให้ cost แซงรายได้ ซึ่งจะเห็นว่า เป็นความเสี่ยงบางธนาคารตอนนี้
นายผยงกล่าวต่อว่า กรุงไทยให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ประโยชน์ให้สูงสุดในองค์กร หรือ Digital Adoption ซึ่งเป็นเทรนด์โลกขณะนี้ การมาดูงานด้านดิจิทัลที่สาธารณรัฐเอสโตเนียซึ่งก้าวหน้าเรื่องของรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ e-Government ที่ได้รับการยอมรับที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ธนาคารพยายามเรียนรู้และทำความเข้าใจเมกะเทรนด์และนำมาประยุกต์ใช้ โดยพิจารณานำนวัตกรรมเทคโนโลยีที่น่าสนใจไปต่อยอดในเรื่อง ecosystem open platform open economy เพื่อเข้าสู่ New Generation โดยมีกรณีศึกษาที่น่าสนใจของเอสโตเนียในการสร้าง Digital Infrastructure ที่รัฐและเอกชนสามารถสร้างบริการทางดิจิทัลได้ถึง 3,000 บริการ โดยกรุงไทยเชื่อว่า การขับเคลื่อนเรื่อง Open platform เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทย โดยโครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ในช่วงวิกฤตโควิด-19 มีเงินหมุนเวียนในระบบถึง 6 แสนบ้านบาทในแพลทฟอร์มที่กรุงไทยพัฒนาร่วมกับพันธมิตรและสามารถตอบโจทย์ผู้คนได้ถึง 40 ล้านคน ปัจจุบันเรามีผู้ใช้งานในระบบโอเพ่นแพลตฟอร์ม 40 ล้านคน ส่วนระบบปิดมี 16 ล้านคน
ความเสี่ยงของภาคธนาคารในปี 2023 มีทั้งเรื่อง Geopolitics โลกแบ่งเป็นสองขั้วระหว่างจีน กับตะวันตก ทำให้ supply chain ถูกแบ่ง และเทคโนโลยีก็มี 2 รูปแบบ ทำให้ไทยต้องวางสมดุลเรื่องนี้ นอกจากนี้ยังมีเรื่อง Generation Shift ที่เราต้องเปลี่ยนผ่านให้ได้ เราเห็นคนรุ่นใหม่ เริ่มสร้างการผันแปรทางการเมืองค่อนข้างมาก แต่การตอบโจทย์ในแง่ธุรกิจ เรามองถึงการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ ไปจนถึงคุณภาพสินเชื่อที่เขาต้องการในการสร้างครอบครัวของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป อื่นๆยังเป็นความเสี่ยงเรื่องอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐอเมริกา เศรษฐกิจยุโรปผันผวน ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง สิ่งเหล่านี้มีผลทั้งสิ้นต่อระบบธนาคารพาณิชย์ ในเรื่องโครงร้างหนี้ การเยียวยาลูกหนี้ที่ประสบปัญหาจากภัยธรรมชาติ และปัญหาทางเศรษฐกิจอื่นๆ
นอกจากนี้กรุงไทยยังคงเดินหน้ามุ่งมั่น คุม NPL ให้อยู่ต่ำกว่า 3.5 % อัตราส่วนเงินสํารองที่มีอยู่ ต่อ NPL (NPL coverage ratio) อยู่ที่ประมาณ 170 % โดยคาดหวังว่า NPLจะลดลง เท่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมการเงินที่เฉลี่ย 2.8 %
ภารกิจที่กรุงไทยกำลังให้ความสำคัญมาก คือ เรื่องการสร้างความยืดหยุ่นในองค์กร (Resilience) การเร่งการเปลี่ยนแปลงร่วมแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ สนับสนุนประเทศในการสร้างความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนี้ที่ผ่านมา คือการเร่งฟื้นฟูและสร้างธรรมาภิบาลองค์กร ไม่ทนต่อการทุจริต วางระบบกลไกตรวจสอบเพื่อสร้างความมั่นใจให้สาธารณชนจากที่เคยมีปัญหาเรื่องการฉ้อฉลต่างๆ ในอดีต
ส่วนเรื่อง ESG Governance Finance Exclusive ที่กรุงไทยดำเนินการที่ผ่านมา จะขับเคลื่อนต่อไป และที่จะให้ความสำคัญมากขึ้น คือ เรื่อง Climate Change ที่จะหาแนวทางให้ธนาคารกรุงไทยตอบโจทย์เรื่องนี้ได้อย่างไรบ้าง.-สำนักข่าวไทย