ทำเนียบฯ 14 ก.พ. – ครม.อนุมัติให้ บ.วิทยุการบินฯ กู้เงิน 1,256 ล้านบาท รองรับการเปิดบริการสนามบินอู่ตะเภา
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อนุมัติให้บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ลงทุน 1,256 ล้านบาท รองรับการเดินอากาศ สนามบินอู่ตะเภา ภายในปี 2568 สอดคล้องตามกรอบเวลาการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก รองรับการเติบโตของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) นับเป็นสนามบินหลักแห่งที่ 3 ของกรุงเทพฯ โดยกระทรวงคมนาคมได้คาดการณ์ปริมาณการจราจรทางอากาศ 241,100 เที่ยวบิน ในปี 2591
โดย บวท. ให้บริการ 4 ด้าน ประกอบด้วย การบริการจัดการจราจรทางอากาศ, บริการระบบสื่อสาร ระบบช่วยการเดินอากาศ และระบบติดตามอากาศยาน, บริการข่าวสารการบิน และบริการออกแบบวิธีปฏิบัติการบินด้วยเครื่องวัดประกอบการบิน จึงเตรียมสร้างหอควบคุมการจราจรทางอากาศ ความสูง 59 เมตร, อาคารสำหรับติดตั้งระบบ/อุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการเดินอากาศ ประกอบด้วยอาคาร 3 กลุ่ม ได้แก่ อาคารระบบวิทยุสื่อสาร (Communication) อาคารระบบช่วยการเดินอากาศ (Navigation) และอาคารระบบติดตามอากาศยาน (Surveillance)
การสรรหาบุคลากรและพัฒนาบุคลากร 79 อัตรา เช่น เจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศบริเวณสนามบิน, เจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศเขตประชิดสนามบินกรุงเทพ และวิศวกร พนักงานชั่วคราว (Outsource) 30 อัตรา งานสนับสนุน เช่น ไฟฟ้า โยธา แม่บ้าน รักษาความปลอดภัย 4) การเตรียมความพร้อมเปิดให้บริการ เช่น การกำหนดขั้นตอนและแนวทางวิธีปฏิบัติ, การอบรมใช้อุกรณ์ และอบรมทำความคุ้นเคยแนวทางวิธีปฏิบัติ และการดำเนินการด้านระบบการจัดการด้านนิรภัย นับว่าช่วยเพิ่มความสามารถในการรองรับเที่ยวบินในบริเวณกรุงเทพฯ ลดการกระจุกตัวของเที่ยวบิน และลดความล่าช้าให้กับเที่ยวบิน
ที่ประชุม ครม. ยังรับทราบบันทึกความเข้าใจว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบีย จากเดิมกำหนดเที่ยวบินขนส่งผู้โดยสาร ฝ่ายละ 9 เที่ยวบิน/สัปดาห์ เพิ่มเป็นฝ่ายละไม่เกิน 42 เที่ยวบิน/สัปดาห์ และไม่จำกัดจำนวนเที่ยวสำหรับเที่ยวบินขนส่งสินค้า, การทำการบินเที่ยวบินเช่าเหมาลำ ทำให้สายการบินของทั้งสองฝ่ายจะทำการขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่เดินอากาศ โดยต้องไม่กระทบต่อการทำการบินแบบประจำ และยังร่วมกันกับสายการบินของประเทศที่สาม, การใช้อากาศยานเช่าเหมาลำ การร่วมกันทำการบินของแต่ละฝ่ายอาจเช่าอากาศยาน พร้อมลูกเรือจากบริษัทหรือสายการบินใดๆ เพื่อทำการบินได้, การกำหนดสายการบิน ทั้งสองฝ่ายสามารถแต่งตั้งสายการบินที่กำหนดได้ เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจการขนส่งสินค้า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การค้าและการบริการระหว่าง 2ประเทศให้เติบโตอย่างมีศักยภาพ. – สำนักข่าวไทย