กรุงเทพฯ 27 ม.ค.- ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เผยราคาที่ดินเปล่าในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล ไตรมาส 4 ปี 65 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 MRTและสายสีเขียว ขยับเพิ่มสูงสุดร้อยละ 16.6 ราคาชานเมืองเริ่มขยับ เจ้าของที่ดินยอมขายบางส่วนเพื่อลดภาระภาษีที่ดินฯ
นายวิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เปิดเผยว่า ราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนา บริเวณแนวเส้นทางรถไฟฟ้า พบว่า เส้นทางรถไฟฟ้า 5 อันดับแรก เพิ่มขึ้นสูงสุด เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นที่ดิน บริเวณโครงการรถไฟฟ้าเปิดให้บริการแล้ว และเตรียมเปิดให้บริการ ในอนาคตโดย ประกอบด้วย
อันดับ 1 ได้แก่ MRT เป็นโครงการ เปิดให้บริการแล้ว ค่าดัชนีเท่ากับ 508.3 จุด ราคา ที่ดินเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.6 เมื่อเทียบกับปีก่อน เขตบางซื่อขยับเพิ่มขึ้นมากที่สุด
อันดับ 2 ได้แก่ สายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-หัวลำโพง) ดัชนีราคาเท่ากับ 500.4 จุด ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.6 เมื่อเทียบกับปีก่อน ราคาที่ดินในเขตบางรัก และสัมพันธวงศ์ ปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุด
อันดับ 3 ได้แก่ สายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) เป็นโครงการ เปิดให้บริการแล้วมีค่าดัชนีเท่ากับ 477.3 จุด ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.6 เมื่อเทียบกับปีก่อน ราคาที่ดินในเขตจตุจักร ดอนเมือง และบางเขน เป็นบริเวณที่มีราคาปรับเพิ่มขึ้นมาก
อันดับ 4 ได้แก่ สายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค) เป็นโครงการ เปิดให้บริการแล้วมีค่าดัชนีเท่ากับ 488.4 จุด ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1 เมื่อเทียบกับปีก่อน ราคาที่ดินในเขตภาษีเจริญ เป็นบริเวณที่มีราคาปรับเพิ่มขึ้นมาก
และ อันดับ 5 ได้แก่ สายสีทอง (ธนบุรี-ประชาธิปก) เป็นโครงการที่เปิดให้บริการแล้วมีค่าดัชนีเท่ากับ 481.4 จุด ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ที่ดินในเขตคลองสาน เป็นบริเวณที่มีราคาปรับเพิ่มขึ้นมาก
สำหรับราคาที่ดินเปล่า ชะลอตัวลง มาจากภาวะเศรษฐกิจ ชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน กระทบต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม อาจทำให้เศรษฐกิจไทย ปี 2566 ขยายตัวลดลง รวมถึงรัฐบาลได้ประกาศจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเต็มอัตราโดยไม่ได้รับส่วนลดร้อยละ 90 เหมือนเช่นในปี 2562 – 2563 ที่ผ่านมา และกรมธนารักษ์ประกาศใช้ราคาประเมินที่ดินใหม่รอบปี 2566-2569 ในวันที่ 1 มกราคม 2566 หลังเลื่อนใช้รอบใหม่มาตั้งแต่ปี 2564 มีผลให้ภาพรวมของราคาประเมินที่ดินทั้งประเทศปรับขึ้นเฉลี่ยประมาณร้อยละ 8 ปัจจัยเหล่านี้ได้ทำให้เจ้าของที่ดินยอมขาย เพื่อลดภาระการจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในขณะเดียวกันความต้องการซื้อที่ดินสะสมในตลาดก็ลดลงอีกด้วย
ในไตรมาส 4 ปี 2565 นี้ พบว่า โซน ที่มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นสูงสุด 5 อันดับแรก เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ดังนี้
อันดับ 1 ได้แก่ ที่ดินในโซนบางพลี-บางบ่อ-บางเสาธง มีอัตราการเปลี่ยนราคามากถึงร้อยละ 57.3
อันดับ 2 ได้แก่ ที่ดินในโซนเมืองนนทบุรี-ปากเกร็ด มีอัตราการเปลี่ยนราคาร้อยละ 46.9
อันดับ 3 ได้แก่ ที่ดินในโซนเมืองปทุมธานี-ลาดหลุมแก้ว-สามโคก มีอัตราการเปลี่ยนราคาราคาร้อยละ 31.9
อันดับ 4 ได้แก่ ที่ดินในโซนกรุงเทพชั้นใน มีอัตราการเปลี่ยนราคาราคาร้อยละ 16.6
อันดับ 5 ได้แก่ ที่ดินในโซนบางเขน-สายไหม-ดอนเมือง-หลักสี่-มีนบุรี-หนองจอก-คลองสามวา-ลาดกระบัง มีอัตราการเปลี่ยนราคาราคาร้อยละ 10.1%
จากภาวะราคาที่ดินมีการเปลี่ยนแปลงข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่า ที่ดินที่อยู่บริเวณพื้นที่ชานเมืองของกรุงเทพฯและปริมณฑลมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก เนื่องจากราคาซื้อขายยังไม่สูงมากนัก และยังมีความต้องการนำไปใช้ในการพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยแนวราบมาก เนื่องจากสามารถควบคุมต้นทุนของราคาที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยได้ ในขณะที่ราคาที่ดินในเขตชั้นในและชั้นกลางของกรุงเทพฯ มีราคาที่สูงอยู่แล้ว แม้ว่าจะมีการปรับตัวขึ้นบ้าง จึงทำให้อัตราร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาไม่สูงดังเช่นในพื้นที่ชานเมือง.-สำนักข่าวไทย