กรุงเทพฯ 2 ธ.ค. – ก.พลังงาน หาช่องทางเพิ่มลดต้นทุนดีเซลเพื่อลดค่าไฟฟ้า หลังต้องพึ่งพาการนำเข้าดีเซลทดแทน LNG ด้านยอดใช้ดีเซล-เจ็ทพุ่งรับท่องเที่ยวฟื้นตัว ประกอบกับราคาน้ำมันพุ่ง ทำให้มูลค่านำเข้า 10 เดือนแรกปีนี้ เพิ่มเกือบเท่าตัว กว่า 1 ล้านล้านบาท
นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่า ภาพรวมการใช้น้ำมันในประเทศในขณะนี้สูงขึ้นมาก โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลและน้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) จากการเปิดประเทศ ท่องเที่ยวฟื้นตัว และการใช้น้ำมันดีเซลเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าทดแทนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ที่มีราคาสูง ซึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 66 ต้องใช้ดีเซลผลิตไฟฟ้าราว 400 ล้านลิตร/เดือน ส่วนเดือนเมษายน คาดจะใช้ราว 356 ล้านลิตร/เดือน ขณะนี้กระทรวงพลังงานกำลังพิจารณามาตรการเพิ่มเติมว่าจะทำอย่างไร เพื่อให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าของประชาชนต่ำที่สุด ซึ่งยอดใช้ดีเซลเดือนตุลาคม เฉลี่ยอยู่ที่ 70.36 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.8 โดยการใช้น้ำมันดีเซลในภาคไฟฟ้ามีปริมาณการใช้อยู่ที่ 7.92 ล้านลิตร/วัน
“แอลเอ็นจีที่มีราคาสูง การใช้ดีเซลทดแทนเพื่อผลิตไฟฟ้าทำให้ต้นทุนต่ำกว่า ซึ่งดีเซลในประเทศไม่เพียงพอก็ต้องนำเข้า โดยกำลังพิจารณาว่าจะมีมาตรการเพิ่มเติมอย่างไรทำให้ต้นทุนดีเซลเพื่อผลิตไฟฟ้าต่ำสุด ซึ่งการบริหารการดีเซลจะให้ความสำคัญต่อภาคขนส่งมากที่สุด ดังนั้น ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 65 ถึงราวกลางเดือนมกราคม 66 มีปัญหาตึงตัว หลายโรงกลั่นฯ ชัตดาวน์ จึงต้องลดสำรองดีเซลลงร้อยละ 0.2 จากสำรองทางกฎหมายร้อยละ 1 และจะกลับมาเหมือนเดิมในช่วงเดือนมกราคม 66 ในขณะที่สำรองน้ำมันดิบยังเหมือนเดิมที่ร้อยละ 5” นางสาวนันธิกา กล่าว
สำหรับภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยเดือนมกราคม-ตุลาคม 2565 อยู่ที่ 149.75 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.4 โดยการใช้กลุ่มดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ 72.20 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.6 น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 8.20 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 88.2 น้ำมันเตาเพิ่มขึ้นร้อยละ18.5
LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 17.80 ล้าน กก./วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 และการใช้ NGV เฉลี่ยอยู่ที่ 3.39 ล้าน กก./วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 การใช้กลุ่มเบนซิน เฉลี่ยอยู่ที่ 29.83 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 ขณะที่การใช้น้ำมันก๊าดลดลงร้อยละ 10.9
การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน แยกเป็นแก๊สโซฮอล์ 91 แก๊สโซฮอล์ 95 และแก๊สโซฮอล์ อี 85 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.97 ล้านลิตร/วัน 15.95 ล้านลิตร/วัน และ 0.89 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ ขณะที่การใช้แก๊สโซฮอล์ อี 20 และเบนซินลดลงมาอยู่ที่ 5.49 ล้านลิตร/วัน และ 0.53 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ
สำหรับการใช้ LPG ภาคขนส่งอยู่ที่ 2.16 ล้าน กก./วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.9 ภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ 2.04 ล้าน กก./วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8 ภาคปิโตรเคมี อยู่ที่ 7.88 ล้าน กก./วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 และภาคครัวเรือน อยู่ที่ 5.71 ล้าน กก./วัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.3
ส่วนการนำเข้าน้ำมัน เฉลี่ยอยู่ที่ 1,013,964 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 14.6 โดยการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 945,562 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1 มูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบ อยู่ที่ 109,354 ล้านบาท/เดือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 91.7 สำหรับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 68,403 บาร์เรล/วัน คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ารวม 5,890 ล้านบาท/เดือน
การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และ LPG โดยปริมาณส่งออกอยู่ที่ 162,238 บาร์เรล/วัน ลดลงร้อยละ 18.7 คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 20,880 ล้านบาท/เดือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 46.2 .-สำนักข่าวไทย