กรุงเทพฯ 5 ต.ค. -“สุริยะ” กำชับ กนอ. เฝ้าระวังพื้นที่ 3 นิคมอุตสาหกรรมโซน จ.อยุธยา เตรียมรับมือน้ำเหนือ หลังเขื่อนเจ้าพระยา และเขื่อนพระราม 6 ปล่อยน้ำเพิ่มเป็น 800 ลบ.ม./วินาที ด้าน “วีริศ” สั่งยกระดับเฝ้าระวังทั้ง 3 นิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งตรวจสอบความแข็งแรงคันป้องกันน้ำท่วม
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่กรมชลประทานได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำเพื่อควบคุมปริมาณน้ำในเขื่อนเจ้าพระยา และเขื่อนพระราม 6 โดยทยอยปรับเพิ่มจาก 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้พื้นที่ริมแม่น้ำ ถึงเขื่อนพระราม 6 พื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น 0.40-1.00 เมตร และมีปริมาณน้ำไหลผ่านอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อยู่ในเกณฑ์3,300-3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงได้สั่งการให้ กนอ. เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมโซนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมนครหลวง นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน และนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้าอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งเตรียมมาตรการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อป้องกันไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ.ยกระดับการเตือนภัยเป็นระดับ 2 (เฝ้าระวัง) หลังมีการเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนพระราม 6 รวมถึงมีฝนตกหนักต่อเนื่องส่งผลให้ระดับน้ำทั้งภายในและภายนอกนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 3 แห่งเพิ่มขึ้น โดยที่นิคมอุตสาหกรรมนครหลวงอำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำห่างจากหลังคันป้องกันน้ำท่วมนิคมฯ ประมาณ 2.86 เมตรส่วนที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำภายนอกแนวป้องกัน (แม่น้ำเจ้าพระยา) เมื่อเทียบกับความสูงของเขื่อนป้องกันน้ำท่วมแล้ว ยังคงเหลือระยะห่างจากสันเขื่อนอยู่ 2.16 เมตร
โดยระดับน้ำที่ไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่อำเภอบางปะอิน อยู่ที่ 3,587 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขณะที่ระดับน้ำภายในแนวป้องกัน (ประตูคลองจิก) เมื่อเทียบกับระดับถนนอุดมสรยุทธ์ภายในนิคมฯ ยังมีระยะห่างอยู่ที่ประมาณ1.66 เมตร ขณะที่นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำภายนอกแนวป้องกัน(แม่น้ำเจ้าพระยา) ระดับน้ำห่างจากหลังคันป้องกันน้ำท่วมนิคมฯ ประมาณ 1.70 เมตร โดยมีปริมาณอัตราการระบายน้ำอยู่ที่ 3,218 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
“ทั้ง 3 นิคมฯ ยังมีศักยภาพในการรับมือและป้องกันสถานการณ์น้ำท่วมได้เป็นอย่างดี แต่การยกระดับการเตือนภัยนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวัง เตรียมความพร้อม และเป็นการไม่ประมาท เพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยทั้ง 3 นิคมฯ มีการตรวจวัดระดับน้ำอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการตรวจสอบอุปกรณ์เครื่องสูบระบายน้ำให้พร้อมใช้งานตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังมีการพร่องน้ำรักษาระดับไว้ที่ประมาณร้อยละ 50 ตามสถานการณ์ปัจจุบันขณะเดียวกันได้ให้ทั้ง 3 นิคมฯ ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของคันป้องกันน้ำท่วม รอบนิคมฯ เป็นประจำด้วย รวมทั้งติดตามการพยากรณ์อากาศ ระดับน้ำ การระบายน้ำจากเขื่อนต่างๆ จากกรมชลประทานอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ มั่นใจว่ามาตรการที่ดำเนินการทั้งหมดจะสามารถรับมือกับสถานการณ์อุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อส่งผลกระทบต่อชุมชนรอบนิคมฯและผู้ประกอบการให้น้อยที่สุด โดย กนอ.พร้อมดูแลชุมชนที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างดี” นายวีริศกล่าว-สำนักข่าวไทย