กรุงเทพฯ 5 ต.ค.-รัฐบาลชูผลงาน สวทช.ปีงบฯ 64 ยื่นขอจดทรัพย์สินทางปัญญา 524 รายการ เป็นอันดับ 1 ของประเทศ-สร้างมูลค่าต่อเศรษฐกิจสังคมของประเทศ จากการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์กว่า 7 หมื่นล้านบาท
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยผลงานประจำปี 2564 ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย สวทช. ได้ดำเนินงานวิจัย พัฒนา ออกแบบและวิศวกรรม และพัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีที่ตอบสนองต่อโจทย์ประเทศ โดยมุ่งเน้นเพิ่มการลงทุนในวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมจากภาครัฐและภาคเอกชน บูรณาการเป็นโจทย์ขนาดใหญ่ร่วมกับเครือข่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศแบบจตุภาคี โดยเน้นฐานเศรษฐกิจชีวภาพเศรษฐกิจหมุนเวียนเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ส่งเสริมDeep-tech Company และ Inclusive Innovation ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร รวมทั้งดึงดูด Talents เพื่อพัฒนาฐานองค์ความรู้ใหม่ ผ่านเครือข่ายความร่วมมือทั้งในประเทศและต่างประเทศ
โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สวทช. เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียนเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) ร่วมกับหน่วยงานภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมโดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการและอนุกรรมการเพื่อผลักดันและขับเคลื่อน BCG Model ซึ่งได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564 – 2570 และผ่านการเห็นชอบจากครม. เมื่อ 19 มกราคม 2564 ให้การขับเคลื่อน BCG Model เป็นวาระแห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป ซึ่งผลการดำเนินงาน ของ สวทช. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สวทช. มีบทความตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ 724 เรื่อง ยื่นขอจดทรัพย์สินทางปัญญา 524 รายการ เป็นอันดับ 1 ของประเทศ มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เชิงพาณิชย์357 รายการ ให้แก่บริษัทและหน่วยงานต่าง ๆ รวม 333 แห่ง
นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างผลงานสำคัญเชิงประจักษ์ ได้แก่ การนำองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญมาช่วยแก้ไขปัญหาและต่อสู้ต่อการระบาดของโรคโควิด 19 ประกอบด้วย
1) การป้องกัน เฝ้าระวัง และการควบคุมโรคโควิด 19 เช่น ระบบบริการทางการแพทย์ทางไกล (A-MED Telehealth) เพื่อบุคลากรทางการแพทย์สามารถดูแลรักษาผู้ป่วย Home Isolation แบบทางไกล แอปพลิเคชันเฝ้าระวังสุขภาพของประชาชนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC-Care) บริหารจัดการสุขภาพของพนักงานในบริษัท/โรงงานในช่วงสถานการณ์โควิด 19 และวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 แบบพ่นจมูก เพื่อเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองในด้านวัคซีนต่อไปได้ในอนาคต
2) การตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด 19 เช่น ชุดตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 (NanovCOVID-19 Antigen Rapid Test)
3) การลดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด 19 เช่น รถส่งของบังคับทางไกล “อารี” เพื่อสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์สู้ภัยโควิด 19 เพื่อใช้ขนส่งสัมภาระ ยา อาหาร ให้แก่ผู้ป่วยโควิด 19 เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ เปลปกป้อง PETE เปลความดันลบห่อหุ้มร่างกายผู้ป่วยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อจากผู้ป่วยโควิด 19 นวัตกรรมซิงก์ไอออนสู่ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อสู้วิกฤตไวรัส ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่ไม่ระคายเคืองผิวหนัง และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
4) การรักษาโรคโควิด 19 เช่น การสังเคราะห์สารตั้งต้นยาฟาวิพิราเวียร์ทดแทนการนำเข้าวัตถุดิบยาต้านโรคโควิด19 จากต่างประเทศ โดยพัฒนากระบวนการผลิตสารตั้งตันออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรมในการผลิตยารักษาโรคโควิด 19 ช่วยผลักดันอุตสาหกรรมยาให้สามารถผลิตยาครบวงจรได้ด้วยตนเอง ทดแทนการนำเข้าวัตถุดิบยาต้านโรคโควิด19 จากต่างประเทศ
ทั้งนี้ สวทช. ยังได้นำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในภาคเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจ BCG และ AI ในด้านต่าง ๆ ได้แก่
1) ด้านเกษตรและอาหาร (Agriculture and Food) เช่น ปุ๋ยคีเลตเสริมธาตุอาหารพืชทางใบ ช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พริกขี้หนูผลใหญ่เกสรตัวผู้เป็นหมัน ขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ 22 สายพันธุ์ ทำให้เกษตรกรได้ใช้เมล็ดพันธุ์พริกลูกผสมที่มีคุณภาพถ่ายทอดให้บริษัทเอกชนเพื่อนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เป็นต้น
2) ด้านการแพทย์และสาธารณสุข (Health and Wellness) เช่น เครื่องตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้นอัตโนมัติ (8-Life Check) ติดตามความคืบหน้าสุขภาพประชาชนที่เป็นระบบข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) BodiiRay R (บอดีเรย์อาร์) ระบบเอกซเรย์ดิจิทัลที่ปรับเปลี่ยนการใช้งานให้เข้ากับการใช้งานในโรงพยาบาลได้ แสดงผลภาพเอกซเรย์ได้ทันทีและปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยได้รับน้อยกว่าเครื่องเอกซเรย์แบบเดิม นวัตกรรมแผ่นกรองอากาศต้านรา-แบคทีเรีย อนุภาคนาโนที่เคลือบบนแผ่นกรองอากาศในรถยนต์สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์และเชื้อราได้ แผ่นแปะเข็มขนาดไมโครเมตรเพื่อการนำส่งสารผ่านชั้นผิวหนัง เข็มนำส่งสารออกฤทธิ์เข้าสู่ร่างกายที่ผ่านการรับรองมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ ISO 13485 แห่งเดียวในประเทศไทย
3) ด้านพลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ (Energy, Materials and Biochemicals) เช่น ชุดแบตเตอรี่และเครื่องชาร์จแบตเตอรี่สำหรับการใช้งานด้านความมั่นคง แพ็กแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและเครื่องชาร์จ มีประสิทธิภาพความจุสูงกว่าเดิม 3 เท่า ใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องชาร์จ ลดต้นทุนการนำเข้าจากต่างประเทศ ผ้าเคลือบกราฟีนอัจฉริยะ ผ้าที่มีเทคโนโลยีการเคลือบนาโนคาร์บอน ถ่ายเทความร้อนและควบคุมอุณหภูมิ ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียนำมาผลิตเครื่องแบบทางทหารให้แก่กองทัพ เป็นต้น
4) ด้านดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ (Digital and Electronics) เช่น ระบบตรวจหาและวิเคราะห์ข้อมูลอุปกรณ์ชำรุดแบบยืดหยุ่นได้บนคลาวค์คอมพิวติง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยนำไปใช้ตรวจและวิเคราะห์ข้อมูลอุปกรณ์ชำรุดเพิ่มความแม่นยำในการวิเคราะห์สูงกว่าวิธีเดิมและใช้ทรัพยากรคำนวณอย่างคุ้มค่ามากขึ้น ระบบตรวจวัดการสั่นสะเทือนของรถไฟอัจฉริยะแบบฝังตัวบนรถไฟฟ้า บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด นำไปใช้กับรถไฟที่ให้บริการเพื่อความปลอดภัยในการเดินทางและการขนส่ง เครื่องกรองอากาศแบบไฟฟ้าสถิต ช่วยบรรเทาปัญหามลพิษทางอากาศPM2.5 ดักจับฝุ่นละออง และสร้างอากาศบริสุทธิ์รองรับพื้นที่ที่มีปริมาตรขนาดใหญ่แบบที่เครื่องกรองหรือฟอกอากาศทั่วไปไม่สามารถทำได้ เป็นต้น
นอกจากนี้ สวทช. มีผลงานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ในด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการวิจัยของประเทศ (National S&T Infrastructure : NSTI) เพื่อสร้างขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แก่ประเทศ โดยให้บริการด้านเทคนิค วิชาการ ที่มีมาตรฐานด้วยเครื่องมือทันสมัย และด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure : NQI) ยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้ได้มาตรฐานสากล อาทิศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ สวทช. ให้บริการวิเคราะห์ทดสอบ สนับสนุนการทำวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงอุตสาหกรรมชีวภาพ เป็นศูนย์กลางการพัฒนาและส่งเสริมบริการวิเคราะห์ทดสอบด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีวิเคราะห์ทดสอบชีวเภสัชภัณฑ์ สารสกัดจากสมุนไพรกัญชา กัญชง ด้วยเครื่องมือขั้นสูงและขยายขอบข่ายการทดสอบสมบัติทางกายภาพและสมบัติเกี่ยวกับเส้นใยกัญชงและคอมโพสิต เพื่อให้บริการแก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมและกลุ่มวิสาหกิจชุมชน
รวมทั้งการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน พัฒนากลไกสนับสนุนเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนด้านวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมเพิ่มขึ้น อาทิ สร้างธุรกิจสตาร์ทอัพจากผลงานวิจัยและพัฒนาโดยบุคลากร สวทช. นำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มีการจดทะเบียนจัดตั้งสำเร็จ 3 บริษัท ได้แก่ บริษัทเบรนนิฟิตจำกัด (BrainiFit) บริษัทบิ๊กโก อนาไลติกส์ จำกัด (BICGO) และบริษัท แคนนาบี ไบโอเทค จำกัด ขณะที่ผลงานด้านการพัฒนาและสร้างเสริมบุคลากรวิจัย มีการสร้างบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีศักยภาพให้กับประเทศ ผ่านการสนับสนุนทุนการศึกษาในระดับต่าง ๆ 870 คน รวมทั้งสนับสนุนนักศึกษาและบุคลากรวิจัยทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมงานในห้องปฏิบัติการของศูนย์แห่งชาติ 600 คน
“การดำเนินงานของ สวทช.กับพันธมิตร ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ได้สร้างมูลค่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่เกิดจากการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ทั้งสิ้น 73,692 ล้านบาท รวมทั้งผลักดันให้เกิดการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของภาคการผลิตและบริการทั้งสิ้น 25,224 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลโดย อว. สวทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งเดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ ตลอดจนการวิจัยและพัฒนา ให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการเตรียมคนไทยแห่งศตวรรษที่21 ให้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลก รวมทั้งเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในทุกมิติ” นายอนุชาฯ กล่าว .-สำนักข่าวไทย