กรุงเทพฯ 7 พ.ค.- กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมแล้ว ที่จะจัดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ โดยวันนี้เป็นการซ้อมใหญ่ครั้งที่ 2 ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ยืนยันทุกฝ่ายเตรียมการพร้อมเต็มที่ โดยเฉพาะปีนี้เป็นการจัดพระราชพิธีเพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ
วันนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซ้อมใหญ่ครั้งที่ 2 การจัดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ โดยในปี พ.ศ. 2567 นี้ กำหนดให้วันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 เป็นวันประกอบพระราชพิธีพืชมงคลซึ่งเป็นพิธีทำขวัญพืชพันธุ์ธัญญาหาร จะประกอบพระราชพิธี ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ส่วนวันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 เป็นวันพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (วันไถหว่าน) อันเป็นพิธีพราหมณ์ จะประกอบพระราชพิธี ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
ผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนาคือ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมกับคู่หาบทองและหาบเงิน
ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า งานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธีซึ่งจัดขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญแก่เกษตรกรไทย กำหนดจัดขึ้นในเดือนหกของทุกปีซึ่งระยะนี้เป็นระยะเหมาะสมที่จะเริ่มต้นการทำนา อันเป็นอาชีพหลักของคนไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความพร้อมอย่างเต็มที่ที่จะจัดพระราชพิธี โดยเฉพาะอย่างยิ่งปีนี้เป็นการจัดพระราชพิธีเพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ
สำหรับพระราชพิธีพืชมงคลเป็นพิธีทำขวัญพืชพันธุ์ธัญญาหารที่พระมหากษัตริย์ทรงอธิษฐานเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารแห่งราชอาณาจักรไทย เนื่องจากข้าวถือเป็นอาหารหลักของประชาชน นอกจากนี้ยังมีพืชอื่นๆ ด้วย โดยจะมีทั้งข้าวเจ้า ข้าวเหนียว และเมล็ดพืชต่างๆ รวม 40 อย่าง
เมล็ดพันธุ์ข้าวเปลือกที่นำเข้าในพระราชพิธี น้ำหนักรวม 2,743 กิโลกรัม ประกอบด้วย พันธุ์ข้าวนาสวน 6 พันธุ์ได้แก่ ขาวดอกมะลิ 105 กข 43 กข 81 กข 85 กข 87 และกข 95 ทั้งยังมีพันธุ์ข้าวเหนียว 2 พันธุ์ ได้แก่ กข 6 และสันป่าตอง 1 โดยได้มาจากแปลงนา ในสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิตซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวเปลือกที่หว่านในพิธีแรกนาในปีก่อนหน้า ที่ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานสำหรับไว้ใช้ในงานพระราชพิธีโดยเฉพาะ
ส่วนพระโคที่ใช้ในการประกอบพระราชพิธีนั้น กรมปศุสัตว์คัดเลือกพระโค 2 คู่ โดยเป็นพระโคแรกนาขวัญ 1 คู่คือ พระโคพอและพระโคเพียง พระโคสำรอง 1 คู่ คือ พระโคเพิ่มและพระโคพูล พระโคทั้ง 2 คู่ซึ่งเป็นพระโคพันธุ์ขาวลำพูน มีสีผิวขาวอมชมพู ขนสีขาวสะอาด ทั้งลำตัวไม่มีจุดด่างดำ หรือสีอื่นบนลำตัว เขามีสีขาว ลำตัวเป็นลำเทียน เขาทั้งสองข้างมีลักษณะโค้งสวยงาม ดวงตาแจ่มใสสีน้ำตาลอ่อน ขนตาสีชมพู บริเวณจมูกขาว กีบสีขาว ขนหางเป็นพวงสีขาวยาว ลำตัวช่วงขาหลังและกีบมีความสมบูรณ์แข็งแรง เวลายืนและเดินสง่า
การเสี่ยงทายในพระราชพิธี จะมีการพยากรณ์ถึงความสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารของประเทศ ประกอบด้วย 2 ช่วง คือ ช่วงแรก พระยาแรกนาจะตั้งสัตยาธิษฐานเสี่ยงทายผ้านุ่งแต่งกายซึ่งแต่ละผืนล้วนมีความหมายแตกต่างกันออกไป ช่วงที่ 2 คือ ภายหลังจากการไถหว่านซึ่งจะเป็นการเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่งตั้งเลี้ยงพระโคได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่วเขียว งา เหล้า น้ำและหญ้า เมื่อพระโคกินของสิ่งใด โหรหลวงจะถวายคำพยากรณ์
สำหรับในวันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม ณ พลับพลาที่ประทับ มณฑลพิธีท้องสนามหลวงทั้งนี้ เกษตรกร สถาบันเกษตรกร สหกรณ์ และปราชญ์เกษตรดีเด่นแห่งชาติจะเข้ารับพระราชทานโล่ประกาศเกียรติคุณตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนดให้วันพืชมงคลเป็นวันเกษตรกรด้วย
ทั้งนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เตรียมความพร้อมทุกด้านแล้ว ประกอบด้วย สถานที่การจัดงาน แนวทางการปฏิบัติในการเข้าร่วมงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ การรักษาความปลอดภัย การจราจร ตลอดจนการอำนวยความสะดวกต่างๆ พร้อมกันนี้จัดเตรียมพันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน สำหรับบรรจุในซองพลาสติกเพื่อแจกจ่ายให้บรรดาพสกนิกร และชาวนาทั่วประเทศรับไปเป็นมิ่งขวัญและสิริมงคลในการประกอบอาชีพการเกษตร. 512 – สำนักข่าวไทย