ประจวบคีรีขันธ์ 30 เม.ย. – รมว. เกษตรฯ ห่วงเกษตรกรชาวสวนมะพร้าว สั่งเร่งควบคุมการระบาดหนอนหัวดำมะพร้าวที่เกิดมาตั้งแต่ 63 โดยปัจจุบันใช้ทั้งแตนเบียน ควบคู่กับสารเคมี พร้อมสั่งกรมฝนหลวงฯ และกรมชลประทานช่วยบรรเทาภัยแล้งให้แหล่งปลูกมะพร้าวสำคัญ
ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า สั่งการให้กรมส่งเสริมการเกษตรและกรมวิชาการเกษตรเร่งถ่ายทอดความรู้ในการป้องกันและกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าวซึ่งเป็นศัตรูที่สำคัญของมะพร้าว
ทั้งนี้ได้รณรงค์ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ซึ่งเป็นแหล่งปลูกมะพร้าวแหล่งใหญ่ พร้อมมอบแตนเบียนบราคอนสำหรับควบคุมกำจัดหนอนหัวดำแก่เกษตรกร 8 อำเภอในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
การระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าวเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2563 – ปัจจุบัน โดยพบการระบาดของหนอนหัวดำ ใน 28 จังหวัด พื้นที่ 16,039.99 ไร่ นอกจากนี้ยังพบการระบาดของแมลงดำหนามร่วมด้วยใน 25 จังหวัด พื้นที่ 14,953.76 ไร่ จังหวัดที่พบการระบาดสูงสุด 5 จังหวัดได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี ชลบุรี เพชรบุรี และสมุทรสงคราม สำหรับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พบการทำลายของหนอนหัวดำเพิ่มขึ้นช่วงต้นปี 2567 ในพื้นที่ 2 อำเภอได้แก่ อำเภอทับสะแกและอำเภอบางสะพาน
กรมวิชาการเกษตรได้เผยแพร่ความรู้ในการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าวแบบผสมผสานที่ใช้ทั้งแตนเบียนและสารเคมี โดยกรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้เร่งนำศัตรูธรรมชาติของหนอนหัวดำ 4 ชนิด ได้แก่ แตนเบียนบราคอน แตนเบียนไข่ทริคโคแกรมม่า แมลงหางหนีบสีดำ และแมลงหางหนีบขาวงแหวนไปปล่อยในสวนมะพร้าวของเกษตรกร ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 – มีนาคม 2567
ผลการจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน (IPM) ประกอบด้วย ปล่อยแมลงศัตรูธรรมชาติ 33 ล้านตัวในพื้นที่ที่มีการระบาดน้อย-ปานกลาง รวมสะสม 18,944.50 ไร่ (พฤศจิกายน 2566 – มีนาคม 2567) ควบคู่กับการใช้สารเคมี 10,686 ไร่ (ตุลาคม 2566 – มีนาคม 2567) พบว่า ก่อนดำเนินการ สำรวจพบหนอนมีชีวิตเฉลี่ย 28 ตัว/ต้น และสำรวจหลังดำเนินการไปแล้ว 1 เดือน พบหนอนมีชีวิตลดลงเฉลี่ยเหลือ 11.1 ตัว/ต้นซึ่งสถานการณ์การระบาดโดยรวมมีแนวโน้มลดลง
สำหรับมาตรการจัดการหนอนหัวดำในระยะต่อไปของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้แก่ การให้คำแนะนำในการใช้สารเคมี ควบคู่กับการปล่อยแตนเบียน ในการป้องกันกำจัดในพื้นที่ที่พบการระบาดรุนแรง เพื่อกำจัดหนอนหัวดำและแมลงดำหนาม การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดทั้งวิธีการฉีดเข้าลำต้นและพ่นทางใบมะพร้าวที่ผ่านมาไม่พบสารตกค้างในน้ำและเนื้อมะพร้าว จึงไม่ส่งผลต่อกระบวนการส่งออก หลังจากใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าวแล้วควรเว้นระยะเวลาประมาณ 3 เดือน จึงส่งเสริมการควบคุมศัตรูมะพร้าวด้วยการปล่อยศัตรูทางธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนติดตามให้คำแนะนำแก่เกษตรกรในการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าวโดยวิธีผสมผสาน (IPM) เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรในการจัดการศัตรูมะพร้าวอย่างต่อเนื่อง ดำเนินการประเมินประชากรศัตรูมะพร้าว และสำรวจติดตามสถานการณ์การระบาดอย่างสม่ำเสมอทุกสัปดาห์ ผ่านระบบของกรมส่งเสริมการเกษตร และสนับสนุนพ่อแม่พันธุ์ศัตรูธรรมชาติสำหรับผลิต ขยาย และปล่อย เพื่อควบคุมการระบาดของศัตรูมะพร้าว
นอกจากนี้สั่งการให้กรมส่งเสริมการเกษตรขยายผลการดำเนินการให้ครอบคลุมพื้นที่ปลูกมะพร้าวสำคัญเพื่อควบคุมการระบาดของศัตรูมะพร้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืน
ร้อยเอกธรรมนัสกล่าวว่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ยังประสบภาวะภัยแล้งซึ่งได้สั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรเร่งทำฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือในช่วงฤดูแล้งและให้กรมชลประทานสำรวจทำแผนที่น้ำ ตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ จังหวัด เพื่อจัดทำแผนบูรณาการการแก้ไขปัญหาภัยแล้งของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ทั้ง 8 อำเภอด้วย
นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าวว่า ศัตรูธรรมชาติแต่ละชนิดที่กรมส่งเสริมการเกษตรสนับสนุนให้แก่เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวนั้น จะทำลายศัตรูมะพร้าวโดยเฉพาะหนอนหัวดำ จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่จะปล่อยแมลงศัตรูทางธรรมชาติ เพื่อช่วยทำลายหนอนหัวดำมะพร้าวไม่ให้สร้างความเสียหายต่อผลผลิต ป้องกันผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวได้ ซึ่งผลจากการดำเนินการของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แสดงให้เห็นว่า มาตรการที่กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการได้ผลอย่างเป็นรูปธรรม และมีแนวโน้มที่การระบาดจะค่อย ๆ คลี่คลายลงไป อย่างไรก็ตาม กรมส่งเสริมการเกษตร เร่งผลิตขยายพ่อแม่พันธุ์ศัตรูธรรมชาติเพื่อสนับสนุนให้ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) ผลิตขยายศัตรูธรรมชาติพร้อมใช้ เพื่อควบคุมศัตรูพืชอย่างต่อเนื่องและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรและภาคการเกษตรของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรเข้ามาให้ความรู้ในการใช้สารเคมีด้านการเกษตรที่ถูกต้อง สารเคมีดังกล่าวจะต้องผ่านการตรวจสอบและได้รับการยืนยันว่าจะไม่มีผลกระทบต่อมะพร้าว เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค. 512 – สำนักข่าวไทย