สมุทรสาคร 2 ก.พ. – รมว. เกษตรฯ สั่งกรมประมงเปิดปฏิบัติการล่า “ปลาหมอสีคางดำ” สัตว์รุกรานต่างถิ่นหรือเอเลียนสปีชีส์ นำร่อง Kick off 5 จังหวัด หวังกำจัดให้สิ้นซาก หลังระบาดต่อเนื่องราว 12 ปี ปลาหมอสีคางดำสามารถบริิโภคได้ เตรียมประสานทำอาหารสัตว์ด้วย
ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน“เปิดปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในแหล่งน้ำธรรมชาติ” ณ วัดศรีสุทธาราม (วัดกำพร้า) ตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน “เปิดปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในแหล่งน้ำธรรมชาติ” โดยมีนายวรณัฎฐ์ หนูรอต รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครร่วมพิธีด้วย
สำหรับปฏิบัติการกำจัดปลาหมอสีคางดำนำร่องใน 5 จังหวัดได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ เพชรบุรี และกรุงเทพมหานครเพื่อควบคุมและกำจัดประชากรปลาหมอสีคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติเนื่องจากเป็นสัตว์รุกรานต่างถิ่นหรือเอเลียนสปีชีส์ที่พบการระบาดมานาน ส่งผลกระทบต่อผลผลิตในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกรและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศ
ร้อยเอกธรรมนัสกล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะต้องมีมาตรการจัดการขั้นเด็ดขาดเพื่อปกป้องผลผลิตสัตว์น้ำของเกษตรกรและทรัพยากรประมงของประเทศ โดยที่ผ่านมากรมประมงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำขึ้น เพื่อวางแผนและกำหนดมาตรการในการควบคุม ป้องกัน และแก้ไขปัญหา โดยกรมประมงต้องสร้างเครือข่ายชาวประมงและเกษตรกรในการกำจัดปลาหมอสีคางดำด้วยเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสม โดยการใช้ “อวนรุน”
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมงกล่าวว่า ขณะนี้มีรายงานการระบาดของปลาหมอสีคางดำในแหล่งน้ำ 13 จังหวัดได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ เพชรบุรี กรุงเทพมหานคร จันทบุรี ระยอง ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา การระบาดของปลาหมอสีคางดำที่สร้างความเสียหายต่อผลผลิตในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกรและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศ เนื่องจากเป็นปลาที่มีการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและทนต่อการเปลี่ยนแปลงความเค็มของน้ำได้ดี
อธิบดีกรมประมงกล่าวถึงการใช้ “อวนรุน” ในการกำจัดปลาหมอสีคางดำว่า “อวนุรน” จัดเป็นเครื่องมือประมงที่ห้ามใช้หรือมีไว้ในครอบครองตามมาตรา 67 (4) แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม แต่เนื่องจากเป็นเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพในการทำการประมงสูงจึงเลือกนำมาใช้ในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ โดบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตผ่อนผันให้ใช้เครื่องมือบางประเภททำการประมง พ.ศ. 2567 เพื่อผ่อนผันให้ใช้อวนรุนขนาดคันรุนยาวไม่เกิน
16 เมตร ห้ามติดโซ่แต่ให้มีการถ่วงน้ำหนักได้ด้วยการติดตัวถ่วงน้ำหนักที่แนบกับเชือกคร่าวล่าง ขนาดตาอวนตลอดผืนต้องไม่น้อยกว่า 3 เซนติเมตร
สำหรับในจังหวัดสมุทรสาครผ่อนผันให้ใช้อวนรุนในการกำจัดปลาหมอสีคางดำเฉพาะพื้นที่บริเวณริมทะเลชายฝั่งจังหวัดสมุทรสาคร บริเวณปากแม่น้ำท่าจีน คลองสุนัขหอน และคลองพิทยาลงกรณ์เท่านั้น โดยต้องอยู่ภายใต้การควบคุมกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมาย อีกทั้งมีคณะกรรมการประมงจังหวัดวางแผนกำกับติดตาม และรายงานผลการดำเนินการให้กรมประมงทราบ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม และสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2567
ร้อยเอกธรรมนัสมอบธงสัญลักษณ์แก่เครือข่ายชาวประมง พร้อมปล่อยขบวนเรือประมง 23 ลำออกปฏิบัติการในแม่น้ำท่าจีน พร้อมกันนี้ปล่อยพันธุ์ปลากะพงขาว 20,000 ตัวซึ่งเป็นปลาผู้ล่าในแหล่งน้ำที่พบการแพร่ระบาดเพื่อควบคุมและลดจำนวนประชากรปลาหมอสีคางดำขนาดเล็กที่พบในธรรมชาติและมีการหลุดรอดเข้าไปในบ่อเลี้ยงของเกษตรกร รวมถึงมีการปล่อยพันธุ์ปลากะพงขาวผ่านระบบออนไลน์ 40,000 ตัว พร้อมกันในพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัดผ่านระบบออนไลน์ ได้แก่
1. วัดลาดเป้ง ตำบลนางตะเคียน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม
2. ประตูน้ำบ้านคลองสวน ตำบลบ้านคลองสวน อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ
3. ท่าเทียบเรือประมงคลองอีแอด ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
4. วัดประชาบำรุง แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร
ขณะนี้กรมประมงจัดทำร่างมาตรการและการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุม ป้องกัน และกำจัดประชากรปลาหมอสีคางดำ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ด้วยการควบคุมการรุกรานของปลาหมอสีคางดำในพื้นที่ที่พบมีการรุกรานแล้ว พร้อมติดตามประเมินและป้องกันการรุกรานของปลาหมอสีคางดำในพื้นที่ที่ยังไม่ถูกรุกราน อีกทั้งยังได้มีการบังคับใช้กฎหมายโดยอาศัยการมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุม ป้องกัน และกำจัดการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำทั้งในบ่อเกษตรกรและแหล่งน้ำธรรมชาติโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน สามารถฟื้นฟูและบริหารจัดการระบบนิเวศให้มีความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน เพื่อยังประโยชน์ให้กับชุมชนในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ เกิดความมั่นคงของทรัพยากรประมงในพื้นที่ต่อไป
สำหรับปลาหมอสีคางดำ กรมประมงได้อนุญาตให้เอกชนรายหนึ่งนำเข้าจากสาธารณรัฐกานา ทวีปแอฟริกาเพื่อนำมาปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิลแบบมีเงื่อนไข หลังจากนั้นในปี 2555 พบในแหล่งน้ำธรรมชาติครั้งแรก ต่อมาเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในจังหวัดสมุทรสงครามและเพชรบุรีร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า ได้รับผลกระทบจากการแพร่พันธุ์ของปลาหมอสีคางดำซึ่งกรมประมงเป็นผู้ถูกร้องเนื่องจากอนุญาตให้เอกชนนำเข้ามาทดลองเพาะเลี้ยง
ต่อมาในปี 2561 จึงมีการออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยง มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2561 กำหนดให้สัตว์น้ำ 3 ชนิดพันธุ์ตามประกาศที่ห้ามมิให้บุคคลใดนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยงเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมประมง หรือเป็นผู้ซึ่งอธิบดีกรมประมงมอบหมาย ได้แก่
1. ปลาหมอสีคางดำ Sarotherodon melanotheron RÜppell,1852
2. ปลาหมอมายัน Cichlasoma urophthalmus (GÜnther,1862)
3. ปลาหมอบัตเตอร์ Heterotilapia buttikoferi (Hubrecht,1881)
ตามประกาศมีแนวทางปฏิบัติสำคัญได้แก่
1. กรณีที่เกษตรกรที่เลี้ยงปลาทั้ง 3 ชนิดในบ่อเพาะเลี้ยง ให้รีบนำปลาดังกล่าวส่งมอบให้เจ้าหน้าที่
กรมประมงโดยด่วน
2. กรณีที่ประชาชนทำการประมงแล้วได้ปลาทั้ง 3 ชนิดนี้ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ประชาชนสามารถนำไปบริโภคหรือจำหน่ายได้ แต่ควรทำให้ปลาตายก่อนนำไปจำหน่าย
3. กรณีที่ปลาทั้ง 3 ชนิดจากธรรมชาติหลุดรอดเข้าในบ่อเพาะเลี้ยงของเกษตรกรโดยไม่เจตนา เกษตรกรสามารถนำไปบริโภคหรือจำหน่ายได้ แต่ควรทำให้ปลาตายก่อนนำไปจำหน่าย
4. กรณีส่วนราชการ สถาบันการศึกษา หรือกรณีจำเป็นอื่นใดที่เพาะเลี้ยงปลาทั้ง 3 ชนิด ไว้เพื่อศึกษาวิจัยและประโยชน์ทางราชการให้แจ้งขออนุญาตกรมประมงต่อไป
5. ห้ามผู้ใดปล่อยปลาทั้ง 3 ชนิด ลงในที่จับสัตว์น้ำโดยเด็ดขาด เนื่องจากมีความผิดตามมาตรา 144
แห่ง พรก.การประมง 2558
สำหรับบทลงโทษหากพบผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 64 หรือมาตรา 65 วรรคสองต้องระวางโทษตามมาตรา 144 จำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งนำสัตว์น้ำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ.-512-สำนักข่าวไทย