กรุงเทพฯ 4 ก.พ.- อธิบดีกรมประมงชี้จะตรวจเข้มฟาร์มของซีพีเอฟที่เพาะเลี้ยง “ปลาเก๋าหยก” ให้เป็นไปตามที่ขออนุญาตเพื่อศึกษาวิจัย ย้ำหากนำปลาเป็นออกจากฟาร์ม จะมีโทษตามกฎหมายเนื่องจากเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร ส่งหนังสือด่วนให้ระงับการโปรโมทและการทำการตลาดทั้งหมดใน 3 วัน ไม่เช่นนั้นจะพักใช้ใบอนุญาตเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดนี้
นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมงกล่าวว่า ได้ส่งหนังสือถึงบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ สั่งให้ระงับการประชาสัมพันธ์และการทำการตลาด “ปลาเก๋าหยก” ภายใน 3 วันเนื่องจากผิดเงื่อนไขการขออนุญาตนำเข้าปลาเก๋าหยกเพื่อการศึกษาวิจัยการเพาะเลี้ยง
สำหรับ “ปลาเก๋าหยก” หรือ Jade perch มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Scortum barcoo เป็นปลาน้ำจืด ซึ่งมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย มีการเพาะเลี้ยงเชิงเศรษฐกิจในประเทศจีนและมาเลเซีย โดยในประเทศไทย “ปลาเก๋าหยก” จัดเป็น 1 ในสัตว์น้ำต่างถิ่น 13 ชนิดที่ห้ามเพาะเลี้ยง ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร พ.ศ. 2564 ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองพันธุ์สัตว์น้ำพื้นถิ่นหายาก หรือป้องกันอันตรายมิให้เกิดแก่สัตว์น้ำและระบบนิเวศ หรือที่เรียกว่า “เอเลี่ยนสปีชีส์”
ทั้งนี้ผู้จะเพาะเลี้ยงต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมประมงหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมประมงมอบหมาย หากฝ่าฝืนตามมาตรา 65 วรรคสอง ต้องระวางโทษตามมาตรา 144 จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง นำสัตว์น้ำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายเฉลิมชัยกล่าวว่า ซีพีเอฟได้ขออนุญาตนำเข้าปลาเก๋าหยกจากจีนเพื่อการศึกษาวิจัยการเพาะเลี้ยงเมื่อปี 2561 ซึ่งกรมประมงอนุญาตให้เลี้ยงเฉพาะที่ฟาร์มในตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม หลังจากระยะทดลองได้ชำแหละปลาทั้งหมดเป็นเนื้อปลา เหลือเพียงพ่อแม่พันธุ์ 40 คู่ ต่อมาบริษัทได้ขออนุญาตดำเนินการศึกษาวิจัยการเพาะพันธุ์ การเลี้ยง และการตลาดผลิตภัณฑ์ปลา Jade perch ในระบบปิดน้ำหมุนเวียนเชิงพาณิชย์เมื่อเดือน เมษายน 2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่ ซึ่งกรมประมงได้อนุญาตให้ศึกษาวิจัยดังกล่าว โดยผ่านมติของคณะกรรมการด้านความหลากหลายและด้านความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง (IBC) ซึ่งต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กรมประมงกำหนดคือ เพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น
การอนุญาตเพาะเลี้ยงเพื่อศึกษาวิจัยมีเงื่อนไขว่า บริษัทต้องดำเนินการในพื้นที่ที่กรมประมงอนุญาตคือ ที่ฟาร์มในตำบลยี่สาร โดยห้ามเคลื่อนย้ายปลามีชีวิตออกจากบริเวณที่อนุญาตอย่างเด็ดขาด ซึ่งได้ส่งเจ้าหน้าที่กรมประมงไปตรวจสอบเป็นระยะๆ ส่วนการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากการทดลองเพื่อศึกษาวิจัยด้านการตลาด กรมประมงอนุญาตให้จำหน่ายเป็นผลผลิตที่ไม่มีชีวิตเท่านั้นเช่น ปลาแช่แข็ง และอนุญาตให้จำหน่ายในช่องทางของบริษัทในเครือตามที่บริษัทเสนอแผนการศึกษามาเช่น ที่ซีพีเฟรชมาร์ท โลตัส แม็คโคร เท่านั้น ทั้งยังต้องรายงานการดำเนินการศึกษาวิจัยให้กรมประมงรับทราบทุกขั้นตอน ตลอดจนต้องส่งผลการศึกษาวิจัยฉบับสมบูรณ์แก่กรมประมง
ต่อมาปรากฏว่า ซีพีเอฟได้โปรโมทเปิดตัว “ปลาเก๋าหยก” โดยชูระบบการเลี้ยงที่ปลอดภัย ไร้สารตกค้าง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทำการตลาดปั้นเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่ นอกจากนั้นยังนำไปโปรโมทในงานแถลงข่าวจัดกิจกรรม “นวัตกรรมยกระดับการประมงและผลิตภัณฑ์ประมง” ที่จะจัดขึ้นในงานในงานเกษตรแฟร์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระหว่างวันที่ 3 – 11 กุมภาพันธ์ 2566 โดยเป็นกิจกรรมที่เป็นความร่วมมือของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กับภาคีเครือข่ายที่กรมประมงและภาคเอกชนเข้าร่วม โดยกรมประมงไม่ได้อนุญาตและไม่ทราบมาก่อนว่า ทางซีพีเอฟจะนำเรื่องปลาเก๋าหยกมาประชาสัมพันธ์ในงานแถลงข่าว
นายเฉลิมชัยกล่าวว่า ได้ส่งหนังสือแจ้งให้บริษัทระงับการประชาสัมพันธ์ดังกล่าวภายใน 3 วัน ไม่เช่นนั้นกรมประมงจะพักใช้ใบอนุญาตเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดนี้ ซึ่งหมายความว่า บริษัทจะไม่สามารถดำเนินการในทุกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับปลาเก๋าหยกได้ต่อไป ที่ผ่านมาได้ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบที่ฟาร์มเลี้ยงเป็นระยะๆ แต่จากนี้จะเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบขึ้นอีกเพื่อให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด
ขณะนี้ยังไม่พบการกระทำผิดกฎหมาย เพียงแต่เป็นการดำเนินการนอกเหนือจากกรอบโครงการวิจัยที่บริษัทเสนอต่อกรมประมงเพื่อขอรับอนุญาต ซึ่งทั้งการทำประชาสัมพันธ์และทำการตลาดเพื่อจำหน่ายปลาเก๋าหยกในเชิงพาณิชย์จะต้องรายงานให้กรมประมงทราบก่อน โดยเรื่องนี้ส่งผลให้เกิดข้อกังวลใจของสาธารณชนว่า หากมีการแพร่กระจายของสัตว์น้ำต่างถิ่น อาจส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศแหล่งน้ำของประเทศไทยในอนาคต
สำหรับการแถลงข่าวการจัดกิจกรรม “นวัตกรรมยกระดับการประมงและผลิตภัณฑ์ประมง” จัดขึ้นในวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมาที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีการเสวนาหัวข้อ “ปลาหยก วากิวแห่งสายน้ำ” สัตว์น้ำเศรษฐกิจใหม่ของไทยจากซีพีเอฟ โดยชูว่า เป็นผลิตภัณฑ์พรีเมียมที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่ดีและจำเป็นต่อร่างกายเช่น ไขมันดี มีโอเมก้า 3 สูงกว่าปลาแซลมอนถึง 3 เท่า ช่วยบำรุงสมอง เสริมสร้างความจำ ลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ และความดันสูง รวมทั้ง DHA (Docosahexaenoic Acid) ที่มีส่วนช่วยบำรุงเซลล์ประสาท สมอง และดวงตา เสริมภูมิคุ้มกันให้เด็ก ลดอาการอ่อนล้าจากการทำงาน นอกจากนี้ ยังมีคอลลาเจนที่จะช่วยทำให้ผิวพรรณดี ลดการปวดข้อต่อ และชะลอการสลายของมวลกระดูก เลี้ยงจากกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีทันสมัยได้มาตรฐานสากล ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกขั้นตอน
นอกจากนั้นนายเปรมศักดิ์ วนัชสุนทร รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ด้านวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของซีพีเอฟยังระบุว่า “ปลาหยก” เป็นหนึ่งในเมนูอาหารที่เสิร์ฟขึ้นโต๊ะผู้นำ Apec 2022 โดยเชฟชุมพล ร่วมรังสรรค์เมนูชั้นเลิศ สร้างความประทับใจแก่ผู้นำระดับโลกจากประเทศต่างๆ ที่ได้ลิ้มลองเป็นอย่างมาก สะท้อนศักยภาพของปลาหยก ทั้งด้านรสชาติที่ดี ความอร่อย และคุณค่าทางโภชนาการสูง สร้างความภาคภูมิใจให้กับบริษัทฯ และประเทศไทยเป็นอย่างมาก จึงเป็นโอกาสดีที่จะขยายตลาดปลาหยกให้เป็นที่รู้จักและผลักดันให้เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจใหม่ของไทย เพราะนอกจากส่งเสริมสุขภาพที่ดีสู่ผู้บริโภคแล้ว ยังช่วยกันลดโลกร้อนจากกระบวนผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกได้ทางหนึ่งด้วย
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทยได้ตรวจสอบพบว่า วิดีโอประชาสัมพันธ์การเลี้ยงปลาเก๋าหยกที่เผยแพร่ในโซเชียลมีเดียของซีพีเอฟได้ระบุรายชื่อร้านอาหารที่จำหน่ายเมนูจากปลาเก๋าหยกถึง 22 ร้าน ล่าสุดวิดีโอถูกลบออกแล้ว.-สำนักข่าวไทย