ชัยนาท 10 ต.ค.- ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง กอนช. เร่งแก้ปัญหาอุปสรรคการระบายน้ำ-รับน้ำ เพื่อคลี่คลายวิกฤติอุทกภัยลุ่มเจ้าพระยาตามข้อสั่งการของ“พล.อ. ประวิตร” ประสานกรมชลประทานรับน้ำเข้าทุ่งให้ได้ตามเป้าเพื่อตัดยอดน้ำหลาก หลังระดับน้ำเหนือสูงสุดไหลผ่าน จ.นครสวรรค์ หวังลดผลกระทบทั้งพื้นที่เหนือและท้ายเขื่อนเจ้าพระยาโดยเร็ว
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า คณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลางได้ประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและกำหนดแนวทางคลี่คลายวิกฤติดังกล่าวโดยเร็ว โดยเฉพาะการเร่งรัดแผนการรับน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาออกไปทางฝั่งตะวันออกและตะวันตกให้ได้มากที่สุด โดยไม่เกินศักยภาพที่คลองต่างๆ รองรับได้และกระทบพื้นที่น้ำท่วมขังเดิมให้น้อยที่สุด
วันนี้กรมชลประทานได้วางแผนเพิ่มการรับน้ำเข้าฝั่งตะวันออกผ่านประตูระบายมโนรมย์เพิ่มขึ้นอีก 35 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) เป็น 71 ลบ.ม./วินาที ส่วนฝั่งตะวันตก รับน้ำผ่านประตูระบายน้ำพลเทพเพิ่มในอัตรา 25 ลบ.ม./วินาที เป็น 171 ลบ.ม./วินาที ทั้งนี้เพื่อจะลดระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ที่ไม่เกิน 17.60 ม.รทก.
ปัจจุบันปริมาณน้ำเหนือสูงสุดไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ไปแล้ว โดยวันนี้ไหลผ่านสถานีวัดน้ำ 3,094 ลบ.ม./วินาที ลดลงจากเมื่อวานนี้ซึ่งมีอัตรา 3,099 ลบ.ม./วินาที จากนั้นมีน้ำจากแม่น้ำสะแกกรังไหลมาสมทบในอัตรา 279 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลเข้าสู่เขื่อนเจ้าพระยา 3,637 ลบ.ม./วินาที โดยระดับน้ำหน้าเขื่อนอยู่ที่ 17.69 ลบ.ม./วินาทีซึ่งลดลงใกล้ถึงระดับควบคุม แล้วมีน้ำไหลผ่านเขื่อน 3,113 ลบ.ม./วินาทีซึ่งเพิ่มขึ้นจากวานนี้เล็กน้อย โดยวานนี้อยู่ที่ 3,048 ลบ.ม./วินาที จากนั้นควบคุมปริมาณน้ำที่ไหลผ่านสถานีวัด C.29A อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยาให้ไม่เกินเกณฑ์ควบคุม โดยวันนี้อยู่ที่อัตรา 3,197 ลบ.ม./วินาที
สำหรับการรับน้ำเข้าทุ่ง ได้ให้กรมชลประทานเร่งรัดดำเนินการทั้ง 10 ทุ่งให้ได้ตามแผน ปัจจุบันรับน้ำเข้าแล้วประมาณ 75% ของความจุรวม และได้มีการติดตั้งโทรมาตรเพื่อติดตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่เพื่อบริหารจัดการน้ำในทุ่งรวม 6 ทุ่งแล้ว จะติดตั้งให้ครบทั้ง 10 ทุ่งภายในสัปดาห์นี้
เลขาธิการสทนช. ย้ำว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เร่งแผนการระบายน้ำออกจากพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังโดยเร็ว ตามข้อสั่งการของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในการเร่งลดผลกระทบต่อประชาชนโดยเร็ว ก่อนหน้านี้ไม่สามารถดำเนินการรับน้ำเข้าไปทางฝั่ง จ.สุพรรณบุรี หรือชัยนาท-ป่าสัก เนื่องจากมีปริมาณน้ำที่ค่อนข้างมากจากปริมาณฝนที่ตกหนักในพื้นที่ หากรับเข้าไปเพิ่มจะทำให้สถานการณ์แย่ลง แต่เมื่อฝนเริ่มลดลง กรมชลประทานได้ปรับแผนระบายน้ำเพิ่มขึ้นแล้ว นอกจากนี้ศูนย์ส่วนหน้าฯ จะเร่งประสานกองทัพเรือขอสนับสนุนเครื่องผลักดันน้ำ เพื่อนำไปใช้ในการเร่งการระบายน้ำจากแม่น้ำท่าจีนลงทะเลให้เร็วขึ้น โดยจะติดตั้ง 2 จุดได้แก่ หน้าวัดเทียนดัด อ.สามพราน จ.นครปฐม และหน้าวัดท่าไม้ บ้านกงสีล้ง ต.ท่าไม้ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร อีกด้วย
ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า การรับน้ำเข้าคลองระพีพัฒน์จะกระทบถึงเทศบาลนครรังสิต เขตสายไหม และดอนเมือง ขอย้ำว่า ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) เผยภาพจากดาวเทียม Pléiades (เปลยาด) ของวันที่ 10 ตุลาคม 2565 บริเวณ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง และ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ล่าสุดพบว่า น้ำที่ล้นตลิ่งแม่น้ำเจ้าพระยา แผ่ขยายไปยังชุมชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำ และพื้นที่เกษตรกรรมต่างๆ ส่งผลกระทบเป็นบริเวณกว้าง จึงขอให้พี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวและใกล้เคียง โดยเฉพาะตามแนวริมตลิ่ง ริมลำน้ำสายหลักสายรอง ให้เฝ้าสังเกตสถานการณ์และติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด.-สำนักข่าวไทย