กรุงเทพฯ 26 ก.ย.- อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุพายุไต้ฝุ่น “โนรู” จะเข้าสู่ประเทศเวียดนาม ในวันที่ 28 ก.ย. แล้วอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อน ก่อนเข้าสู่ประเทศไทย ทาง จ. อำนาจเจริญ หรือรอยต่ออุบลราชธานี ช่วงเช้ามืดวันที่ 29 ก.ย. โดยจะทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมาก กับมีลมแรง ย้ำปริมาณฝนในแนวพายุเคลื่อนผ่านอาจมากถึง 100 มิลลิเมตร เนื่องจากเป็นห้วงเวลาที่ประเทศไทยมีร่องมรสุมพาดผ่านอยู่แล้ว
นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า เมื่อเวลา 04.00 น.ที่ผ่านมา พายุไต้ฝุ่น “โนรู” อยู่บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ที่ละติจูด 15.8 องศาเหนือ ลองจิจูด 119.2 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 25 กิโลเมตร/ชั่วโมง คาดว่าจะเข้าสู่ประเทศเวียดนามตอนกลางบริเวณเมืองดานังวันที่ 28 ก.ย. ซึ่งทำให้จะส่งผลกระทบให้มีฝนเพิ่มขึ้นทางฝั่งตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะทางตอนล่างของภาค
พายุจะเคลื่อนจากเวียดนามเข้าสู่ลาว โดยจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อน จากนั้นจะเข้าสู่ประเทศไทยในช่วงเช้ามืดของวันที่ 29 ก.ย. ทางจังหวัดอำนาจเจริญหรือรอยต่ออุบลราชธานี แล้วทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมาก กับมีลมแรงในจังหวัดที่อยู่บริเวณขอบของพายุซึ่งลมพัดหมุนเข้าสู่ศูนย์กลางได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา และชัยภูมิ
อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า พายุ “โนรู” มีแนวโน้มจะอ่อนกำลังลงอีก จากพายุโซนร้อนเป็นพายุดีเปรสชัน และหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงตามลำดับ ก่อนจะเคลื่อนออกไปทางตะวันตกค่อนทางเหนือ เข้าสู่ภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างในวันที่ 30 ก.ย. ซึ่งจะทำให้มีฝนตกเพิ่มขึ้น ตกหนักหลายพื้นที่และตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมถึง กทม. และปริมณฑล จากนั้นพายุที่อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำจะเคลื่อนพ้นประเทศไทยไป
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระมัดระวังอันตรายทั้งจากฝนที่ตกหนักถึงหนักมาก รวมถึงกระแสลมแรงด้วย คาดการณ์ว่า ปริมาณฝนในพื้นที่ที่มีฝนตกหนักมากอาจมากถึง 100 มิลลิเมตร อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำล้นตลิ่งในช่วงเวลาดังกล่าว
อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ห้วงเวลาที่ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากพายุนี้ มีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ทำให้มีฝนตกหลายพื้นที่อยู่แล้ว เมื่อมีพายุเข้ามาจะทำให้มีฝนเพิ่มขึ้น พายุเคลื่อนตัวในแนวที่มีปริมาณน้ำมากได้แก่ ลุ่มน้ำชี-มูล ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และป่าสัก กรมอุตุนิยมวิทยาได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานด้านบริหารจัดการน้ำ รวมถึงป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน โดยวันนี้จะเปิดศูนย์อำนวยการติดตามสถานการณ์พายุโซนร้อน “โนรู (NORU)” เพื่อให้การทำงานร่วมกันมีประสิทธิภาพสูงสุด ที่ศูนย์นี้มีนักอุตุนิยมวิทยาและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 24 ชั่วโมง
สำหรับการคาดการณ์เกี่ยวกับพายุ “โนรู” อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามข้อมูลนำเข้าใหม่ ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารและการแจ้งเตือนภัยจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิดเพื่อเตรียมรับสถานการณ์.-สำนักข่าวไทย