กรุงเทพฯ 23 ก.ย. – กรมชลประทานเตรียมรับน้ำเข้าระบบชลประทาน 2 ฝั่งเหนือเขื่อนเจ้าพระยา เพิ่มอีก 50 ลบ.ม./วินาที เพื่อจะสามารถคงการระบายท้ายเขื่อนเจ้าพระยาที่ไม่เกิน 2,000 ลบ.ม./วินาที ให้ได้นานที่สุด ช่วยพื้นที่ตอนล่างหากน้ำเหนือไหลมาเพิ่ม จำเป็นต้องปรับเป็นขั้นบันไดถึง 2,200 ลบ.ม./วินาที ขณะเดียวกันลดการระบายน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ตอนล่างให้ได้มากที่สุด
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า เป็นห่วงประชาชนในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จึงกำหนดแนวทางบริหารจัดการน้ำเพื่อลดผลกระทบด้วยการแบ่งน้ำเหนือเข้าสู่คลองต่างๆ ในระบบชลประทาน 2 ฝั่งเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นในปริมาณที่รับได้ตามศักยภาพของคลอง จากอัตราการรับเข้าปัจจุบันรวม 179 ลบ.ม./วินาที จะรับเพิ่มขึ้นอีกเป็น 50 ลบ.ม./วินาที 229 ลบ.ม./วินาที แม้ระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่ง มีศักยภาพการรับน้ำสูงสุด 860 ลบ.ม./วินาที แต่เนื่องจากมีฝนตกในพื้นที่ โดยเฉพาะฝั่งตะวันตกที่ลุ่มน้ำท่าจีน มีน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมขังพื้นที่เกษตรใน อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี จึงต้องคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นด้วย
สำหรับการรับน้ำเข้าระบบชลประทาน 2 ฝั่งเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่ม เป็นการแบ่งปริมาณน้ำที่ระบายผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จากที่ต้องปรับเพิ่มการระบายผ่านเขื่อน จะสามารถคงอัตราการระบายไม่เกิน 2,000 ลบ.ม./วินาที ซึ่งเป็นอัตราระบายปัจจุบันได้ โดยกรมชลประทานจะคงไว้ให้นานที่สุด เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อน
ทั้งนี้ จากการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาที่ระบุว่าประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง รวมถึงพบการก่อนตัวของพายุที่มีแนวโน้มเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย กรมชลประทานจึงคาดการณ์ว่าจะมีน้ำเหนือไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น เมื่อน้ำเหนือไหลมาถึง กรมชลประทานจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ไม่เกิน 2,200 ลบ.ม./วินาที ในระยะต่อไป การปรับเพิ่มดังกล่าวจะส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 30-50 เซนติเมตร บริเวณชุมชนพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ ได้แก่ คลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา อ.เสนา อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) อ.อินทร์บุรี อ.เมืองสิงห์บุรี อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี และ อ.ไชโย จ.อ่างทอง
นายประพิศ กล่าวต่อว่า ได้พยายามลดผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้าย ด้วยการจัดจราจรน้ำระหว่างเขื่อนเจ้าพระยาและป่าสักชลสิทธิ์ เมื่อระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยามาก จึงปรับลดการระบายน้ำผ่านเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จากอัตรา 200 ลบ.ม./วินาที ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย. จนวันนี้อยู่ที่ 140 ลบ.ม./วินาที โดยจะลดลงเหลือ 120 ลบ.ม./วินาที ในวันพรุ่งนี้ แล้วคงอัตราดังกล่าวไว้
การลดปริมาณการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบต่อพื้นที่ตอนล่าง ในห้วงที่ระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่ม เนื่องจากน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาและป่าสักจะไหลมาบรรจบกันที่ อ.พระนครศรีอยุธยา
ส่วนการเร่งระบายน้ำออกทะเลนั้น กรมชลประทานใช้ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เร่งระบายน้ำในช่วงน้ำทะเลลงอย่างเต็มศักยภาพ
กรมชลประทานได้เตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ และเจ้าหน้าที่ประจำจุดเสี่ยงที่พร้อมจะเข้าไปให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที รวมถึงติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิด บริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ฝนที่ตกลงมา เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนให้มากที่สุด ทั้งนี้ สามารถติดตามสถานการณ์น้ำได้ที่ www.rid.go.th https://www.facebook.com/Kromchon http://swoc.rid.go.th/ หรือโทรสายด่วนกรมชลประทาน 1460.-สำนักข่าวไทย