พระนครศรีอยุธยา 23 ก.ย. – ชาวบ้าน อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา หวั่นใจการปรับเพิ่มระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาเกิน 2,000 ลบ.ม./วินาที จะทำให้น้ำท่วมพื้นที่นอกคันกั้นน้ำสูงขึ้นอีก เรียกร้องให้ภาครัฐเปิดประตูระบายน้ำ เร่งผันน้ำเข้าทุ่ง หวังให้ระดับน้ำที่กำลังจะท่วมถึงชั้น 2 ของบ้านลดลงบ้าง หากไม่เร่งดำเนินการ ชาวบ้านรวมตัวเรียกร้องอีกครั้งแน่นอน
นางสาวอรุโณทัย พารอด กำนันตำบลบ้านกุ่ม อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยากล่าวว่า ชาวบ้านตำบลบ้านกุ่ม 9 หมู่บ้านกำลังเดือดร้อนหนัก เนื่องจากตำบลบ้านกุ่มอยู่นอกคันกั้นน้ำ เมื่อมีการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเกินกว่า 700 ลบ.ม./วินาทีจะทำให้มีน้ำท่วมขัง ปกติแล้วทุกปีที่ผ่านมาน้ำจะเริ่มท่วมประมาณเดือนกันยายนและท่วมนานประมาณ 2-3 เดือน แต่ปีน้ำท่วมเร็ว โดยเริ่มมีน้ำท่วมตั้งแต่เดือนสิงหาคม มีชาวบ้าน 1,300 ครัวเรือนที่เดือดร้อนจากน้ำท่วมประมาณ 800 ครัวเรือน
ปัจจุบันน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 1,989 ลบ.ม./วินาที ล่าสุดได้รับแจ้งว่า จะปรับเพิ่มการระบายโดยอาจถึง 2,300 ลบ.ม./วินาที อาจทำให้ระดับน้ำสูงขึ้นอีก 30 – 50 เซนติเมตร ขณะนี้น้ำสูงจนจะถึงชั้น 2 ของบ้านแล้ว ชาวบ้านกังวลว่า หากเพิ่มการระบายอีก ร่วมกับมีฝนตกหนักในพื้นที่ รวมถึงมีพายุเข้า จะไม่สามารถอยู่อาศัยในบ้านเรือนได้
เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ที่ผ่านมา ชาวบ้านได้รวมตัวกันไปเรียกร้องให้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามหาราชเปิดประตูระบายน้ำ (ปตร.) บางกุ้งเพื่อให้น้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ไหลเข้าทุ่งไปบ้าง หวังให้น้ำที่ท่วมอยู่ลดระดับลง เนื่องจากภาครัฐแจ้งมาก่อนหน้านี้ว่า จะเริ่มผันน้ำเข้าทุ่งตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย. ดังนั้นเมื่อถึงกำหนดแล้วยังไม่ดำเนินการ จึงมาเรียกร้องให้ทำตามที่แจ้งไว้ ทางชลประทานพื้นที่แจ้งว่า หากปริมาณน้ำที่ระบายผ่านเขื่อนเจ้าพระยายังมากอยู่ การเปิดประตูระบายน้ำอาจไม่ช่วยให้ระดับน้ำที่ท่วมขังพื้นที่นอกคันกั้นน้ำลดลง ชาวบ้านรับทราบ แต่ยังคงต้องการให้แบ่งน้ำเข้าทุ่งเพื่อเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข นอกจากนี้ทางชลประทานพื้นที่ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า มาตรการระบายน้ำเข้าทุ่งอยู่ในอำนาจของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ที่จะมีคำสั่งมายังกรมชลประทานว่า จะให้เริ่มดำเนินการเมื่อใดและนำเข้าเป็นปริมาณเท่าไร แต่ระหว่างนี้ได้นำเสนอความต้องการของชาวบ้านให้ผู้บริหารของกรมชลประทานรับทราบแล้ว
กำนันตำบลบ้านกุ่มกล่าวเพิ่มเติมว่า ได้รับแจ้งจากหน่วยงานในพื้นที่ว่า กอนช. จะนำน้ำเข้าทุ่งตั้งแต่ 30 ก.ย. เป็นต้นไป โดยก่อนระบายน้ำเข้าต้องทำกระบวนการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดก่อน แต่ขณะเดียวกันจะระบายน้ำเพิ่ม 2,200 – 2,300 ลบ.ม./วินาทีในช่วงวันที่ 25 – 27 ก.ย. ซึ่งระดับน้ำจะสูงขึ้นอีก อาจทำให้ชาวบ้านไปรวมตัวประท้วงอีกครั้งเพื่อเรียกร้องให้นำน้ำทุ่งโดยเร็ว.-สำนักข่าวไทย