กรุงเทพฯ 20 ก.ย. – กรมชลประทานพร่องน้ำจากอ่างเก็บน้ำของเขื่อนลำตะคองและลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา ซึ่งปริมาณน้ำเกินเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ อีกทั้งกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าจะมีฝนต่อเนื่องจนถึงวันที่ 29 ก.ย. จึงต้องเร่งพร่องน้ำเพื่อรองรับน้ำจากฝนที่ตกเพิ่ม ย้ำการระบายไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้าย ตลอดจนยืนยันว่าเขื่อนมั่นคงแข็งแรงดี
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สั่งการให้สำนักงานชลประทานที่ 8 พร่องน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนลำตะคอง ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ที่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ซึ่งปัจจุบันมีน้ำในอ่าง 239 ล้าน ลบ.ม. เมื่อเทียบกับความจุที่ระดับเก็บกัก 314 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 76% ซึ่งเกินเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าตั้งแต่วันนี้ 23-29 ก.ย. จะมีฝนตกต่อเนื่องในลุ่มน้ำชี-มูล จึงจำเป็นต้องพร่องน้ำในเขื่อนลำตะคอง เพื่อให้อยู่ในเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ (Rule Curve) และมีพื้นที่รองรับน้ำจากฝนที่ตกลงมาเพิ่ม โดยการระบายน้ำของเขื่อนลำตะคองจะไม่กระทบต่อพื้นที่ด้านท้าย พร้อมทั้งยืนยันว่าเขื่อนมีความมั่นคงแข็งแรงดี มีการตรวจสอบเป็นประจำ และเพิ่มความถี่ขึ้นในช่วงฤดูน้ำหลาก ขอให้ประชาชนมั่นใจ
นายเกรียงไกร ภาคพิเศษ ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 8 รายงานถึงสถานการณ์ในลำตะคองด้านท้ายอ่างเก็บน้ำว่า ปัจจุบันระดับน้ำในลำตะคอง ในเขต อ.เมือง จ.นครราชสีมา มีระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 80-95 เซนติเมตร ทั้งนี้ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง ได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ เพื่อเตรียมพร้อมในเขตเทศบาลเมืองนครราชสีมา ที่ประตูระบายน้ำข่อยงาม และประตูระบายน้ำจอหอ แห่งละ 3 เครื่อง รวม 6 เครื่อง นอกจากนี้ยังได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว อีก 2 เครื่อง บริเวณฝายท่ากระสังข์ ซึ่งอยู่ด้านท้าย ประตูระบายน้ำข่อยงาม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ รวมทั้งการเตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำ 10 เครื่อง ประจำพื้นที่เสี่ยงเพื่อบรรเทาสถานการณ์
ส่วนอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิงซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ที่ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา มีความจุอ่างที่ระดับเก็บกัก 155 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่าง 110 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 71% ของความจุ สามารถรองรับน้ำได้อีก 45 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเกินเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าจะมีฝนตกเพิ่ม จึงต้องพร่องระบายน้ำให้อยู่ในเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำและให้มีพื้นที่รองรับน้ำที่จะไหลเข้าสู่อ่างเก็บน้ำเพิ่ม
ทั้งนี้ สถานการณ์ในลำพระเพลิงด้านท้ายอ่างเก็บน้ำ ปัจจุบันมีระดับต่ำกว่าตลิ่ง ประมาณ 0.7-3.0 เมตร สำนักงานชลประทานที่ 8 เตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ ประจำพื้นที่เสี่ยง ได้แก่ เครื่องผลักดันน้ำ 12 เครื่อง เครื่องสูบน้ำ 3 เครื่อง รถบรรทุก 1 คัน รถขุด 1 คัน และรถตัก 1 คัน เพื่อให้พร้อมรับสถานการณ์น้ำและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้อย่างทันท่วงที.-สำนักข่าวไทย