สปสช. 25 ก.ค.- บอร์ด สปสช. เห็นชอบเดินหน้าร่วมปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิ กทม. เห็นชอบข้อเสนอเร่งพัฒนาระบบบริการ หนุนผู้ว่าฯ กทม.รุกนโยบายดูแลสุขภาพคน กทม. พร้อมมอบ สปสช.เพิ่มหน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่ ประสาน กทม.ร่วมขับเคลื่อนขยายการให้บริการ ระบุกลไกกองทุนบัตรทองพร้อมรองรับ
พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น ทั้งประชากรในพื้นที่และประชากรแฝงมีจำนวนกว่า 7.8 ล้านคน จากข้อมูลระบบสุขภาพพบว่า เป็นผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) มากที่สุด จำนวน 3.59 ล้านคน รองลงมาเป็นสิทธิประกันสังคม 3.4 ล้านคน สิทธิข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ 640,000 คน และสิทธิสวัสดิการพนักงานส่วนท้องถิ่น 6,700 คน แม้ว่าจะมีความครอบคลุมในสิทธิประกันสุขภาพแล้ว แต่การเข้าถึงบริการ โดยเฉพาะในระดับปฐมภูมิยังค่อนข้างจำกัด ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
ดังนั้น ที่ผ่านมาจึงมีข้อเสนอจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิและจัดการบริหารกองทุนบริการปฐมภูมิในพื้นที่ กทม. ที่ช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการให้ประชาชน โดยได้มีการนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ซึ่งได้รับทราบและเห็นชอบดำเนินการ โดยข้อเสนอเพื่อพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิฯ มีดังนี้
ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิใน กทม. ที่เป็นข้อสรุปจากการประชุมรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิในกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 8-9 มิถุนายน 2565 ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ สปสช. โดยให้ บอร์ด สปสช.สนับสนุนงบประมาณและออกแบบระบบการเงินที่ส่งเสริมศักยภาพของระบบบริการปฐมภูมิ ที่มุ่งเน้นบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค พร้อมพัฒนารูปแบบการจ่ายเงินผู้ให้บริการอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
ข้อเสนอจากคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ ได้แก่ การจัดเครือข่ายบริการให้คลินิกชุมชนอบอุ่น โรงพยาบาลของรัฐหรือเอกชนสามารถขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการประจำ, การปรับงบสนับสนุนบริการปฐมภูมิ ทั้งในส่วนของงบบริการผู้ป่วยนอก งบสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค และงบค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับบริการระดับปฐมภูมิ ให้จ่ายตามกิจกรรมบริการแก่หน่วยบริการปฐมภูมิที่ผ่านเกณฑ์การขึ้นทะเบียนทุกแห่ง
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอจากคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่ (อปสข.) กทม. ในการเพิ่มบทบาทการพิจารณาเห็นชอบการจ่ายงบประมาณบัตรทองในพื้นที่ กทม. ได้แก่ บริการผู้ป่วยนอกทั่วไป บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคระดับพื้นที่ (PPA) และบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับบริการพื้นฐาน (P&P Basic service)
“บอร์ด สปสช.มีมติรับทราบข้อเสนอการบริหารกองทุนบริการปฐมภูมิ เขตพื้นที่ กทม.ข้างต้นแล้ว พร้อมกันนี้ได้มอบให้ สปสช.เร่งกระบวนการขยายหน่วยบริการทุกรูปแบบ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการให้ประชาชน และประสาน กทม. ในการขับเคลื่อนระบบบริการปฐมภูมิ อีกทั้งกำกับควบคุมคุณภาพบริการ เพิ่มกลไกและเร่งรัดการตรวจสอบการจ่าย”
พญ.ลลิตยา กล่าวต่อว่า จากนโยบายของทางผู้ว่าฯ กทม. สปสช.จะมีการปรับกลไกการเบิกจ่าย เพื่อสนับสนุนการจัดบริการปฐมภูมิให้คน กทม. ซึ่งจากที่ได้พิจารณาในหลายๆ ประเด็นพบว่าระบบการจ่ายค่าบริการของ สปสช.มีความสอดคล้องกับนโยบายของผู้ว่าฯ กทม. และดำเนินการได้เลย สำหรับส่วนของการสนับสนุนการเพิ่มหรือขยายศักยภาพศูนย์บริการสาธารณสุขต้องมีการหารือกันอีกครั้ง
“ที่จริงเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เป็นข้อสังเกตของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) แล้วก็กระทรวงการคลังมานานแล้ว สำหรับงบประมาณว่าจะทำยังไงให้ประชาชนใน กทม. เข้าถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้มากที่สุด เพราะ กทม.มีคนเกือบ 8 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ สปสช.เอง เราเชื่อมั่นว่าระบบที่เราออกแบบการจ่ายตามประกาศ สปสช.เพียงพอต่อการขับเคลื่อนระบบปฐมภูมิ กทม. ภายใต้ทิศทางการปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิ กทม. และพร้อมจะมีการปรับรูปแบบการจ่าย เพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการของประชาชน กทม.เพิ่มมากขึ้น ภายใต้ความร่วมมือกับ กทม. และทุกภาคส่วน” รองเลขาธิการ สปสช.กล่าว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand.-สำนักข่าวไทย