สธ.18 เม.ย. – ผอ.กองระบาดวิทยา คาดติดเชื้อโควิดหลังสงกรานต์ตัวเลขแท้จริงจะปรากฏ 2-3 สัปดาห์ ปอดอักเสบใส่ท่อจะเพิ่มต้น พ.ค. เหตุวัยทำงานติดเชื้อไม่แสดงอาการพาโรคไปหาผู้สูงวัยที่บ้าน ส่วนโอกาสเป็นโรคประจำถิ่นยังเหมือนเดิม 1 ก.ค. หากป่วยหนัก อัตราเตียงยังรับได้ เชื้อไม่เปลี่ยนแปลง
นพ.จักรรัฐ พิทยาวงค์อานนท์ ผู้อำนวยการ กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ติดเชื้อโควิด -19 ทั่วโลก ภาพรวมลดลงติดเชื้อ 504 ล้านคน เสียชีวิต 6.2 ล้านคน ส่วนของไทยพบผู้ป่วยติดเชื้อ 22,176 คน เสียชีวิต 124 คน เหลือรักษาตัวใน รพ. 205,514 คน ในจำนวนนี้มียอดผู้ป่วยปอดอักเสบ 2,123 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 939 คน ส่วนอัตราการครองเตียงในผู้ป่วยสีเหลืองและแดง ครองเตียง 30% ทั้งนี้ หลังเทศกาลสงกรานต์คาดว่าตัวเลขติดเชื้อที่แท้จริงของสงกรานต์จะปรากฏใน 2-3 สัปดาห์ คาดว่ากลุ่มผู้ป่วยอาการหนัก ปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจจะเพิ่มมากขึ้นประมาณต้นเดือนพฤษภาคม
นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า จากการติดตามข้อมูลของผู้เสียชีวิต 124 คน พบว่า 99% หรือ 123 คน เป็นกลุ่มคน 608 และพบว่ามีถึง 119 คนที่มีอาการปอดอักเสบ มีแค่ 5 คนที่ไม่มีอาการปอดอักเสบ และพบว่าผู้เสียชีวิตที่พบมาก ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 70 ปีขึ้น จึงห่วงว่าหลังผ่านสงกรานต์วัยทำงานที่รับวัคซีนมีอาการน้อยหรือไม่แสดงอาการจะพาเชื้อโควิดไปให้ผู้สูงอายุ ทำใหัอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิตมากขึ้น เนื่องจากกลุ่มสูงอายุบางคนยังรับวัคซีนไม่ครบ หรือกังวลผลกระทบจากการรับวัคซีนเข็มกระตุ้น ทำให้ในช่วงสงกรานต์ที่มีการรณรงค์นำแขนไปหาวัคซีน แม้มีคนรับวัคซีนแต่ก็ยังน้อยอยู่ ได้แค่กลุ่มคนสูงอายุที่ไม่มีลูกหลานพาไปสถานพยาบาลเท่านั้น ส่วนคนที่ยังไม่ฉีดก็ยังไม่มาฉีดเหมือนเดิม ดังนั้น ต้องเร่ง อสม. หรือเจ้าหน้าที่ รพ.สต.ให้ความรู้ทำความเข้าใจ
นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ตัวเลขการรับวัคซีนในผู้สูงอายุ เข็ม 1 อยู่ที่ 84%, เข็ม 2 อยู่ที่ 79.6% และเข็ม 3 อยู่ที่ 39.4% ขณะที่ภาพรวมของการรับวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ประเทศไทยยังไม่ถึงตามเป้า 80% คาดมีแค่ 50% เท่านั้น ส่วนการที่พบว่าหลายพื้นที่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์มีการเล่นน้ำ ผับ บาร์มีการเปิด จะเกิดคลัสเตอร์ขนาดใหญ่หรือไม่นั้น คิดว่าการสอบสวนโรคทำได้ยาก เนื่องจากทุกคนที่ไปร่วมกิจกรรม ต่างพากันกลับบ้านแล้ว และหากมีการติดเชื้อก็จะกลับไปติดเชื้อที่ทำงานหรือที่บ้าน ฉะนั้นหากมีอาการก็ควรรีบตรวจ ATK และแยกกักเพื่อป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ ตอนนี้เจอคลัสเตอร์เล็ก ๆ แล้วเท่านั้น
นพ.จักรรัฐ ยังกล่าวว่า โอกาสที่โควิด-19 จะเป็นโรคประจำถิ่น 1 กรกฎาคม ยังไม่เปลี่ยนแปลง หากสถานการณ์ป่วยหนัก ปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจไม่เพิ่มสูงขึ้นมาก และอัตราการครองเตียงระบบสาธารณสุขยังรองรับได้.-สำนักข่าวไทย