รัฐสภา 12 เม.ย.-กมธ.สิทธิฯ วุฒิสภาเดินหน้าตามคดี “แตงโม” เน้นความเป็นธรรม ไม่บิดเบือน เชื่อถ้าอัยการติดตามร่วมตำรวจจะไม่มีปัญหา “สมชาย” คาใจร่างพ.ร.บ.สอบสวนคดีอาญา กฎหมายฏิรูปถูกดอง ทั้งที่กฤษฎีกาตรวจแล้วตั้งแต่ปี 61
นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา เปิดเผยว่า มติของที่ประชุมกมธ. วานนี้(11 เม.ย.) จะติดตามและสอบหาข้อเท็จจริงการทำคดีน.ส.ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ หรือ แตงโม ดาราสาวซึ่งเสียชีวิตจากการพลัดตกเรือสปีดโบ๊ทกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ตามกรอบของรัฐธรรมนูญ โดยไม่ก้าวก่าย หรือแทรกแซงการทำคดีของเจ้าหน้าที่ ซึ่งตามข้อบังคับวุฒิสภาที่กมธ.สามารถทำได้
“กมธ.จะติดตามการทำงานของเจ้าหน้าที่ว่า เป็นอย่างไร ทั้งสำนวนของคดี การส่งเรื่องไปอัยการ รวมถึงความเป็นธรรม การอำนวยความยุติธรรมที่ไม่บิดเบือน เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นในการทำงานของเจ้าหน้าที่ ส่วนกรณีที่กลุ่มประชาชนคนไทยยื่นเรื่องให้กมธ.ส่งต่อคดีของน.ส.ภัทรธิดา กมธ.มีมติส่งต่อเรื่องไปยังตำรวจเจ้าของคดีและอัยการนนทบุรี เพื่อให้ตรวจสอบว่าก่อนสรุปสำนวนได้ดำเนินการอย่างรัดกุม รอบคอบ ไม่ตกหล่นหรือไม่ ทั้งนี้ ไม่ใช่ข้อสั่งการของกมธ.ที่มีผลบังคับให้ทำ แต่เป็นเพียงข้อสังเกตเพื่อให้การทำงานรอบคอบ” นายสมชาย กล่าว
นายสมชาย กล่าวว่า จากการติดตามเรื่องดังกล่าว กมธ.พบว่างานด้านปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด นอกจากต้องตราร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติแล้ว ต้องมีร่างกฎหมายสำคัญอีก1 ฉบับ คือ ร่างพ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญาด้วย และจากการตรวจสอบพบว่า ถูกยกร่างและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามหมายเลข 1788/2561 เมื่อปี 2561 แต่ปัจจุบันไม่ทราบว่าเรื่องค้างอยู่ที่ส่วนราชการใด
“ร่างพ.ร.บ.สอบสวนคดีอาญา มีความสำคัญเพราะตามเหตุผล คือ ให้การสอบสวนคดีอาญามีการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการที่เหมาะสม โดยมีหลักเกณฑ์คือ เป็นคดีสำคัญ มีโทษ 10 ปีขึ้นไป หรือ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและอัยการพิจารณาตามประกาศกำหนด หากร่างกฎหมายดังกล่าวมีผลจะทำให้อัยการมีส่วนร่วมการทำคดีตั้งแต่ต้นน้ำ เพื่อประชาชนมีความเชื่อมั่นใจกระบวนการยุติธรรม และหากคดีของน.ส.ภัทรธิดามีกระบวนการดังกล่าวจะไม่มีปัญหา” นายสมชาย กล่าว
นายสมชาย กล่าวว่า กมธ.มอบหมายให้อนุกมธ.ติดตามเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ ตนเห็นว่า เมื่อสภาเปิดสมัยประชุมเดือนพฤษภาคมนี้ รัฐบาลควรส่งร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เพื่อให้การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมมีความชัดเจน.-สำนักข่าวไทย