กรุงเทพฯ 13 ม.ค. – กทม.เตรียมพร้อมรับมือโควิดสายพันธุ์โอไมครอน สแตนด์บาย 10,000 เตียง ติดเชื้อแข็งแรงเข้าสู่ระบบ Home isolation ย้ำผับ บาร์ เปลี่ยนเป็นร้านอาหารต้องมีใบอนุญาต
ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร แถลงเตรียมความพร้อมรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ว่า หลังจากการแพร่ระบาด 4 ครั้งที่ผ่านมา ทำให้ กทม.ไม่อาจวางใจต่อสถานการณ์ในอนาคตได้ จึงเตรียมแผนรับมือการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์ รวมถึงการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อเชิงรุกหลังปีใหม่ที่ผ่านมา วันละ 4,000 ราย พบผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มเพียง 1-2% หรือคิดเป็นประมาณ 970 รายเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่า 4 รอบที่ผ่านมา ที่ติดเชื้อสูง 10-12%
ร.ต.อ.พงศกร กล่าวว่า การติดเชื้อเกิดขึ้น 2 ลักษณะ คือ ในชุมชนและร้านจำหน่ายแอลกอฮอล์ สำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อในชุมชนมักเกิดขึ้นในงานเลี้ยงสังสรรค์ที่มีการดื่มสุรา และรับประทานอาหารร่วมกัน ส่วนกรณีการแพร่ระบาดในร้านที่มีจำหน่ายแอลกอฮอล์ เป็นการระบาดเฉพาะกลุ่มคนกลุ่มเดียว หรือโต๊ะเดียวกันเท่านั้น ไม่มีการแพร่ระบาดไปยังพนักงานของร้านหรือบุคคลอื่นแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม เพื่อความไม่ประมาท จึงได้จัดเตรียมความพร้อมเรื่องของเตียงผู้ป่วย เพื่อป้องกันปัญหาผู้ป่วยหาเตียงไม่ได้ โดยขณะนี้มีเตียงพร้อมสแตนด์บายประมาณ 10,000 เตียง โดยจะมีการคัดแยกผู้ป่วยออกเป็นกลุ่ม ๆ สำหรับกลุ่มคนแข็งแรงจะให้เข้าสู่ระบบ Home isolation หรือรักษาตัวอยู่กับบ้าน เพราะต้องกันเตียงไว้รองรับผู้ป่วยอาการหนัก แต่หากพบตัวเลขของผู้ป่วยสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และมีอัตราการตายเพิ่มสูงขึ้น กทม.ก็พร้อมเพิ่มเตียงใน 48 ชั่วโมง เป็น 20,000 เตียงทันที
ทั้งนี้ กรุงเทพฯ กำลังเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 ให้ได้มากที่สุด ซึ่งปัจจุบันยังพบว่าตัวเลขการ Booster เข็ม 3 อยู่ที่ 25% หรือประมาณ 8 ล้านคนเท่านั้น ขณะที่เข็มแรกมีประชาชนฉีดไปแล้วกว่า 120% ซึ่งขณะนี้ กทม.ได้จัดจุดบริการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ 101 จุด เข็มแรก walk in เข้าไปได้ในทันที แต่สำหรับ Booster เข็ม 3 ขอให้ลงทะเบียนผ่าน App QQ
ด้าน พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การป้องกันการแพร่ระบาดโควิดโอไมครอนในพื้นที่กรุงเทพฯ ขณะนี้ยังไม่พบคลัสเตอร์ใหญ่แต่อย่างใด โดยเฉพาะในกลุ่มของแคมป์ก่อสร้างและโรงงาน มีเพียง 3 แคมป์เท่านั้นที่ต้องติดตามเฝ้าระวังใน 28 วัน ซึ่งจากการตรวจสอบและติดตามเฝ้าระวังมา 14 วัน ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่
ขณะที่สถานการณ์ร้านอาหารและสถานประกอบการที่หลายคนกำลังมีความกังวล หลังเปิดบริการในวันที่ 16 มกราคมนี้ อาจทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิค-19 เพิ่มสูงขึ้นอีกได้นั้น ขอยืนยันว่า กลุ่มร้านอาหารและผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของ กทม.อย่างเคร่งครัด ต้องมีการเว้นระยะห่าง ไม่ให้เต้น และสถานที่จะต้องโล่งโปร่ง ไม่แออัดยัดเยียด โดยสามารถยื่นขอใบอนุญาตต่อสำนักงานเขตได้ภายในวันที่ 15 มกราคมนี้ และหากผ่านการประเมินก็สามารถเปิดให้บริการได้ทันที
ส่วนผับ บาร์ คาราโอเกะ ยังคงต้องปิดต่อไป แต่สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการแปรสภาพจากผับ บาร์ มาเป็นสถานประกอบการกึ่งร้านอาหาร ก็เช่นเดียวกัน ต้องผ่านการประเมินและได้รับอนุญาตจากสำนักงานเขต จึงจะเปิดให้บริการได้
ผู้อำนวยการสำนักอนามัย ยังกล่าวถึงกรณีเตรียมฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับเด็กอายุ 5-11 ปี คาดว่าภายในสิ้นเดือนนี้ วัคซีนไฟเซอร์สำหรับเด็กจะมาถึงไทย และหลังจากนั้นน่าจะสามารถฉีดให้กับเด็กได้เลย ในส่วนของ กทม. ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจความต้องการของผู้ปกครองว่า ต้องการให้บุตรหลานรับวัคซีนหรือไม่ ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่ผู้ปกครองต้องการวัคซีนเชื้อตาย หรือซิโนแวคมากกว่าไฟเซอร์ ซึ่งเป็นเชื้อเป็น ส่วน กทม.จะได้รับการจัดสรรจำนวนกี่โดสนั้น ยังไม่สามารถตอบได้
ส่วนกรณีเตรียมประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น เช่นเดียวกับไข้หวัด ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. ระบุว่า หลังจาก ศบค.ประกาศโรคประจำถิ่น ทาง กทม.จะต้องเตรียมพร้อมทำความเข้าใจและเข้าไปพูดคุยปรับทัศนคติของประชาชน เพื่อให้รู้ว่าโรคดังกล่าวสามารถดูแลตัวเองได้ และสามารถรักษาตัวอยู่กับบ้านได้ สำหรับการตรวจคัดกรอง สามารถทำได้ด้วยตนเองโดยใช้ ATK และหากพบว่าเป็นผลบวก ให้ติดต่อเพื่อเข้าสู่การรักษา ด้วยระบบหมายเลขโทรศัพท์สายด่วน 1330 กด 34 ซึ่งขณะนี้ สปสช.เปิดระบบอัตโนมัติทั่วประเทศแล้ว หรือติดต่อ App สำนักงานเขตนั้น.-สำนักข่าวไทย