ทำเนียบ 15 พ.ย.- “นิโรธ” ปัด พปชร.ตั้งธงคว่ำร่างแก้ รธน. ฉบับประชาชน รอถก ส.ส.พรรคพรุ่งนี้เช้า เผยนายกฯ ส่ง “อนุชา” มาฟังแทน สะกิดจิตสำนึกผู้แทน มาแล้วต้องกดองค์ประชุม
นายนิโรธ สุนทรเลขา ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือ วิปรัฐบาล กล่าวก่อนการประชุมวิปรัฐบาล ถึงการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนวันพรุ่งนี้(16 พ.ย.) ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า พรรคพลังประชารัฐตั้งธงจะคว่ำร่างดังกล่าวว่า ทางพรรคพลังประชารัฐได้เน้นย้ำว่าจะต้องให้ความสำคัญกับกฎหมายที่ประชาชนเสนอเข้าสู่สภาฯ โดยพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค ได้ให้สมาชิกพรรคไปศึกษาร่างกฎหมายดังกล่าว เพราะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และได้มอบหมายให้ นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคและฝ่ายกฎหมาย นำเสนอรายละเอียดร่างดังกล่าวต่อสมาชิกพรรค โดยเฉพาะบางประเด็นแหลมคม เพื่อให้สมาชิกได้อภิปรายในสภาฯ
นายนิโรธ ยังกล่าวย้ำอีกว่า พล.อ.ประวิตร ได้ปรึกษาเรื่องนี้กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ครม.ด้วยว่า รัฐบาลควรให้ความสนใจกฎหมายฉบับนี้ เพราะเป็นกฎหมายของภาคประชาชน ถึงแม้ว่ากฎหมายนี้จะเป็นเรื่องของสภาฯ โดยตรง ไม่เกี่ยวกับฝ่ายบริหาร แต่รัฐบาลก็ควรให้ความสนใจรับฟังในสภาฯ ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มารับฟังแทน เพราะติดภารกิจการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่ จ.กระบี่
ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า พรรคพลังประชารัฐ ตั้งธงจะคว่ำร่างกฎหมายฉบับนี้ ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง โดยพล.อ.ประวิตร ได้สั่งการให้ประชุมนำผลประชุมวิปรัฐบาลวันนี้ ไปหารือในที่ประชุมพรรคเช้าวันพรุ่งนี้ (16 พ.ย.)
ส่วนกรณีที่นายไพบูลย์ ออกมาระบุไม่เห็นด้วยกับร่างฉบับนี้ นายนิโรธ กล่าวว่า นายไพบูลย์ น่าจะได้ศึกษารายละเอียดแล้ว และเห็นว่ามีประเด็นแหลมคม จึงให้สัมภาษณ์แสดงความเห็นส่วนตัว ซึ่งไม่เกี่ยวกับพรรคพลังประชารัฐ
สำหรับข้อดี ข้อเสีย หรือข้อกังวลกับร่างกฏหมายฉบับนี้นั้น นายนิโรธ กล่าวว่า ตนไม่ได้เข้าประชุมกับหัวหน้าพรรค เลขาพรรคและกรรมการบริหารพรรค แต่ส่วนตัวมองว่า กฎหมายรัฐรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด การออกกฎหมายต้องรอบคอบ และกลั่นกรองหลายชั้น เมื่อเห็นว่าสมบูรณ์ก็จะส่งมาที่วิปรัฐบาล วิปกลั่นกรองแล้วเสนอต่อประธานสภาฯ บรรจุระเบียบวาระ แต่กฎหมายภาคประชาชน อาจมาขั้นตอนเดียว ก็ต้องกลั่นกรองเยอะหน่อย
ส่วนแนวโน้มการโหวตของฝ่ายรัฐบาลจะเป็นอย่างไรนั้น นายนิโรธ กล่าวว่า ตามหลักการแล้วพรรคการเมืองถือเป็นอิสระต่อกัน ผู้แทนก็มีเอกสิทธิ์ วันนี้วิปรัฐบาลก็มาหารือกันเรื่องนี้ จึงยังตอบไม่ได้ว่าทิศทางเป็นอย่างไร
เมื่อถามว่า ขณะนี้มี ครม.สัญจร การคุมเสียงในสภาจะทำอย่างไร นายนิโรธ กล่าวว่า เสียงในสภาฯเป็นหน้าที่สภาฯ หากผู้แทนอยู่ในห้องประชุมแต่ไม่กดเป็นองค์ประชุม แสดงว่าผู้แทนเหล่านั้นปฏิเสธกฎหมายฉบับนี้ ทุกคนมีวุฒิภาวะ ตนก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร แต่ไม่มองเป็นเรื่องการกลั่นแกล้ง เพราะแล้วแต่ทัศนะ แต่ทุกคนต้องมีสามัญสำนึกในการเป็นผู้แทนราษฎร ถ้าไม่กดองค์ประชุมจนถึงขั้นทำให้สภาฯล่ม ก็ถือเป็นการทำร้ายสภาฯ แต่ที่ผ่านมาสภาฯก็เป็นไปด้วยดี อาจมีปัญหาบ้างนิดหน่อย พร้อมกันนี้ ไม่ทราบว่าพรรคร่วมจะฟรีโหวตหรือไม่ ก็ต้องหารือกันอีกที
ส่วนที่มีข่าวว่าสมาชิกวุฒิสภา ออกมาตั้งป้อมจะไม่รับร่างฉบับนี้ ถ้าหากร่างตกไปจะมีผลกระทบกับรัฐบาล จะทำให้สถานการณ์ทางการเมืองรุนแรงขึ้นหรือไม่ นายนิโรธ มองว่า ไม่น่าเป็นเช่นนั้น เพราะเป็นเรื่องของรัฐสภา อีกทั้งสมาชิกวุฒิสภาก็มีความเห็น ซึ่งตนไม่ขอก้าวล่วง
ทั้งนี้ นายนิโรธ ยังกล่าวด้วยว่า ตนเพิ่งมารับหน้าที่ ยังอ่านร่างกฎหมายไม่ละเอียด แต่ก็มีหลายประเด็นที่แหลมคมน่าศึกษา
ด้านนายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวก่อนประชุมวิปรัฐบาลว่า การลงมติเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส. วิปรัฐบาลไม่สามารถไปกำหนดทิศทางได้ โดยร่างดังกล่าวคล้ายกับของพรรคพลังประชารัฐที่เสนอไปก่อนหน้านี้ ที่มีลักษณะเป็นพ่วง ไม่สามารถเลือกลงมติเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ อีกทั้งไปทับซ้อนกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญระบบบัตร 2 ใบของรัฐบาล ที่อยู่ในขั้นตอนการทูลเกล้าฯ รวมทั้งร่างของภาคประชาชนนี้ ยังเสนอยกเลิก ส.ว. แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ต้องใช้เสียง ส.ว. 1 ใน 3 ดังนั้นการจะขอเสียง ส.ว. จึงเป็นไปได้ยาก.-สำนักข่าวไทย