ตรัง 15 มิ.ย.-พบอีก! เสาไฟฟ้าหงส์ทองต้นละ 1 แสน 30 ต้น งบกว่า 3 ล้านบาท ติดตั้งหน้าสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินตรัง ถูกเทศบาลฯ ถอดทิ้งซุกคากองบ่อขยะ
นายยุทธนา วิมลเมือง เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการ ฝ่ายปฎิบัติการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประจำจังหวัดตรัง หรือ ป.ป.ช. พร้อมคณะ ลงพื้นที่ไปยังสนามกีฬาเทศบาลนครตรัง 2 ถนนตรัง-สิเกา ต.บางรัก อ.เมืองตรัง ที่อยู่บริเวณหน้าอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. เพื่อตรวจสอบเสาไฟรูปหงส์ทองจำนวน 30 ต้น ราคาต้นละ 100,000 บาท รวมมูลค่ากว่า 3 ล้านบาท ซึ่งก่อสร้างขึ้นเมื่อปี 2546 ระยะทางยาว 600 เมตร แต่ถูกรื้อถอนหายไปจากเกาะกลางถนน คงเหลือให้เห็นเพียงแค่ตอม่อเท่านั้น
โดย ป.ป.ช. ตรัง ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านและมีการโพสต์เปิดประเด็นถึงเสาไฟฟ้าที่สูญหายไป พร้อมทั้งถามว่าเป็นการถอดเพื่อประโยชน์ของผู้รับเหมาที่จัดงานมหกรรมสินค้าในช่วงการจัดงานประเพณีลากพระ และงานประจำปีหรือไม่ ประกอบกับมีคำสั่งจาก สำนักงาน ป.ป.ช. ให้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศลงตรวจสอบ
ขณะที่ นายวัลลภ ช่วยบำรุง ปลัดเทศบาลนครตรัง กล่าวว่า ทางเทศบาลฯ ได้ทำการถอดเสาดังกล่าวไปตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 เพราะชำรุด เกรงว่าจะเป็นอันตรายต่อบุคคลทั่วไป ส่วนที่มีประชาชนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า การถอดถอนเสาเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับงานมหกรรมสินค้านั้น ในช่วงปี พ.ศ.2562 ขณะมีตลาดสินค้าก็ยังมีเสาตั้งอยู่ แต่หลังจากโควิดระบาดก็ไม่มีตลาดสินค้าแล้ว คงไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้ผู้รับเหมาในการจัดงานแต่อย่างใด ซึ่งการจัดซื้อจัดจ้างเป็นงบประมาณเหมารวมกับถนน งบประมาณ 15.5 ล้านบาท เมื่อปี 2546 ราคาต้นละ 1 แสนบาท ซึ่งจะมีการติดตั้งใหม่หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้บริหารชุดใหม่
ส่วน จ.เชียงราย นายทัศนัย สุธาพจน์ นายอำเภอเชียง ชี้แจงกรณีเสาไฟส่องสว่างปลาบึกเสียบไม้ ในโครงการปรับภูมิทัศน์ บริเวณสวนสาธารณะด่านชายแดน พื้นที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ว่าคุ้มค่างบประมาณของทางราชการหรือไม่ โดยเสาไฟดังกล่าว สร้างเสร็จมาแล้ว 4 ปี งบประมาณ ราว 1.4 ล้านบาท จำนวน 22 ต้น เฉลี่ยต้นละ 65,000 บาท ซึ่งโครงการนี้ อำเภอได้รับมอบหมายจากทางจังหวัดเชียงรายเมื่อปี 2560 ให้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง โดยมีการประมูลงานตามขั้นตอน และการสร้างเสาโคมไฟปูนปั้นนี้ เป็นการออกแบบให้สอดคล้องกับลานปลาบึกเจ็ดสีที่เป็นสวนสาธารณะใกล้กับท่าเรือบั๊ค ที่มีรูปปั้นปลาบึกขนาดใหญ่ ติดกับด่านพรมแดนท่าเรือข้ามฟากเชียงของ-ห้วยทราย ซึ่งเป็นที่พักผ่อนออกกำลังกายของคนเชียงของ ซึ่งเสานี้เป็นรูปบึกพันรอบเสา ไม่ใช่ปลาบึกเสียบไม้
โดยเรื่องของโครงสร้างที่ต้องให้ตัวปลาบึกยึดกับเสาได้ ทั้งนี้ชาวอำเภอเชียงของ ส่วนใหญ่ให้เห็นว่าเป็นการทำให้เกิดจุดเด่น ของ อ.เชียงของ ที่จะแสดงให้เห็นถึงเมืองแห่งปลาบึก และอาจมีคนบางคนเห็นว่าไม่ดี วิพากษ์วิจารณ์ได้ ซึ่งที่ผ่านมาพื้นที่ดังกล่าวได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวมาแล้วหลายครั้ง รวมทั้งการทำกิจกรรมวิ่ง ปั่นจักรยาน ของชาวอำเภอเชียงของ และผู้ที่ให้ความสนใจในการออกกำลังกาย.-สำนักข่าวไทย