กรุงเทพฯ 19 เม.ย. – กรมปศุสัตว์เร่งควบคุมโรคลัมปี สกินซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ในโคกระบือ พบระบาดจากประเทศเพื่อนบ้าน ให้ปศุสัตว์จังหวัดเฝ้าระวังและป้องกันโรค แนะเกษตรกรปฏิบัติตามคำแนะนำเฝ้าระวังโรคอย่างเคร่งครัด
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า ได้ประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือมาตรการควบคุมป้องกันโรคลัมปี สกิน สืบเนื่องจากมีรายงานจากองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) พบการระบาดของโรคลัมปี สกิน ซึ่งเป็นโรคประจำถิ่นในแอฟริกาและมีการแพร่กระจายของโรคมาสู่ภูมิภาคเอเชียได้แก่ บังคลาเทศ อินเดีย ฮ่องกง จีน ไต้หวัน ภูฏาน เนปาล เวียดนาม และเมียนมา ต่อมาเมื่อปลายเดือนมี.ค. กรมปศุสัตว์ได้รับรายงานพบโคเนื้อแสดงอาการสงสัยโรคลัมปี สกินในโคเนื้อของเกษตรกรรายย่อยที่อ. พนมไพร จ. ร้อยเอ็ด โดยเกษตรกรแต่ละรายพบโคป่วย 1-2 ตัว จึงเก็บตัวอย่างส่งตรวจที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ซึ่งต่อมาผลทางห้องปฏิบัติการตรวจพบเชื้อไวรัสโรคลัมปี สกิน จากการสอบสวนโรคเกิดจากการนำเข้าโคเนื้อมาเลี้ยงใหม่ในพื้นที่ โดยเป็นโคเนื้อที่อาจมีการลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน จึงสั่งการให้ปศุสัตว์จังหวัดเร่งควบคุมโรคเพื่อลดความสูญเสียให้กับเกษตรกรและเฝ้าระวังโรคในจังหวัดข้างเคียง ด้วยการชะลอการนำเข้าโคกระบือมีชีวิตและซากโคซากกระบือจากเมียนมาแล้ว ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรสังเกตอาการของโคกระบือ แนะนำวิธีการป้องกันและเฝ้าระวังโรคให้เกษตรกร สหกรณ์โคเนื้อ โคนม ตลาดนัดค้าสัตว์และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวต่อว่า “โรคลัมปี สกิน” มีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส Lumpy skin disease virus เป็นโรคที่เกิดเฉพาะในโค กระบือ ไม่เป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน อัตราการป่วยมากกว่า 5% โดยเชื้อไวรัสชนิดนี้ก่อโรคตามอวัยวะที่มีเซลล์เยื่อบุ พบตุ่มเนื้อบนผิวหนังและเยื่อเมือกทั่วร่างกาย ซึ่งต่อมาจะตกสะเก็ดและเป็นแผลหลุม สัตว์อาจมีไข้และหายใจลำบากร่วมด้วย โดยในโคนมอาจพบน้ำนมลดลง 25-65เปอร์เซ็นต์ โรคนี้มีแมลงดูดเลือดเช่น เห็บ แมลงวันดูดเลือด และยุงเป็นพาหะแพร่กระจายเชื้อ นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อได้ผ่านการสัมผัสสัตว์ป่วยโดยตรง ผ่านทางน้ำเชื้อของพ่อพันธุ์ที่เป็นโรค หรือผ่านทางรกได้
สำหรับการป้องกันโรคทำได้โดยการกำจัดแมลงพาหะนำโรค ด้วยการใช้สารเคมีกำจัดแมลงแบบฉีด แบบราดหลัง หรือแบบฉีดพ่นสำหรับสัตว์ทุกตัวในฝูง ปรับภูมิทัศน์โดยรอบฟาร์มให้โปร่งโล่ง ไม่ให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของแมลงพาหะ รวมถึงกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง กำจัดมูลสัตว์ออกจากฟาร์มเป็นประจำหรือใช้ผ้าใบคลุมเพื่อป้องกันแมลงมาวางไข่ ตลอดจนกางมุ้งให้แก่สัตว์เพื่อป้องกันแมลงดูดเลือด ทั้งนี้ หากเกษตรกรพบโค กระบือป่วยและแสดงอาการผิดปกติ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอในพื้นที่ทันทีเพื่อเข้าป้องกันและควบคุมโรคเร็วที่สุด. – สำนักข่าวไทย