กรุงเทพฯ 11 พ.ย. – อสมท เผยผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2563 มีรายได้ 402 ล้านบาท ธุรกิจโทรทัศน์และธุรกิจวิทยุยังคงเป็นธุรกิจหลักที่สามารถสร้างรายได้สูงสุด พร้อมเร่งพัฒนาและต่อยอดใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เริ่มเปิดรับข้อเสนอแนวคิดพัฒนาที่ดิน 50 ไร่ ย่านรัชดาก่อนเดินหน้าพัฒนา ระบุโครงการ MSP ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรกว่าร้อยละ 20
นายสิโรตม์ รัตนามหัทธนะ กรรมการและรักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท เปิดเผยว่า อสมท รายงานงบการเงินไตรมาส 3 ปี 2563 บริษัทมีผลขาดทุนไตรมาส 3 จำนวน 106 ล้านบาท โดยคิดเป็นการเปลี่ยนแปลงดีขึ้นถึงร้อยละ 42 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ส่งผล 9 เดือน ขาดทุน 1,168 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ภาคธุรกิจต้องควบคุมค่าใช้จ่ายการใช้งบโฆษณาและประชาสัมพันธ์ อย่างไรก็ตาม ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 อสมท มีรายได้ 1,086 ล้านบาท โดยเป็นรายได้ไตรมาส 3 ปี 2563 จำนวน 402 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 26 จากไตรมาสก่อนหน้า
สำหรับผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2563 ธุรกิจโทรทัศน์และธุรกิจวิทยุยังคงเป็นธุรกิจหลักที่สามารถสร้างรายได้สูงสุด ในสัดส่วนร้อยละ 62 ขณะที่ธุรกิจให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล (BNO) มีสัดส่วนรายได้สูงเป็นลำดับ 2 รองจากธุรกิจโทรทัศน์
ทั้งนี้ ธุรกิจโทรทัศน์ มีรายได้ 9 เดือน 314 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 26 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยเป็นรายได้ไตรมาส 3 จำนวน 131 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 37 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ธุรกิจวิทยุ มีรายได้ 9 เดือนแรก 345 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 34 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยเป็นรายได้ไตรมาส 3 จำนวน 115 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 จากไตรมาสก่อนหน้า
ส่วนคลื่นวิทยุทั้งส่วนกลางและภูมิภาคไตรมาส 3 มีรายได้เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดยคลื่นลูกทุ่งมหานคร FM 95 MHz. ยังแสดงผลงานได้โดดเด่นสามารถทำรายได้สูงสุดในคลื่นวิทยุของ อสมท เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา สำหรับคลื่นวิทยุอื่น ๆ เช่น คลื่นความคิด FM 96.5 MHz, Mellow FM 97.5 MHz, Active Radio FM 99 MHz คลื่นข่าว FM 100.5 MHz และคลื่น MET 107 MHz รักษาฐานผู้ฟังและกลุ่มลูกค้าด้วยกิจกรรมการตลาดใหม่ ๆ เช่น การใช้เทคโนโลยีสื่อสารผ่านโปรแกรม Zoom รวมถึงการจัดกิจกรรมร่วมกับลูกค้าผู้สนับสนุนรายการและผู้ฟัง
ธุรกิจการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิตอลและให้เช่าช่องรายการบนดาวเทียมในระบบ C-Band มีรายได้ 9 เดือนปี 2563 จำนวน 326 ล้านบาท ประกอบด้วย รายได้ธุรกิจการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิตอล และรายได้จากธุรกิจการให้เช่าช่องสัญญาณดาวเทียม โดยเป็นรายได้ไตรมาส 3 ปี 2563 จำนวน 130 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
ธุรกิจดิจิทัล มีรายได้ 9 เดือน จำนวน 35 ล้านบาท เป็นรายได้ไตรมาส 3 จำนวน 13 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 54 จากไตรมาสก่อนหน้า โดยรายได้ธุรกิจดิจิทัล ประกอบด้วย รายได้จากเว็บไซต์ www.mcot.net หรือแพลตฟอร์มโซเชียลที่ได้รับความนิยมต่าง ๆ เช่น Youtube และ Facebook นอกจากนี้ เปิดตัวบริการใหม่ทางด้านดิจิทัล รวมถึงการให้บริการ Digital Solution แก่หน่วยงานต่าง ๆ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ปัจจุบันปรับปรุงทั้งเชิงเทคนิคและ Content เพื่อให้สามารถเพิ่มอัตราการเข้าถึงเว็บไซต์ได้อย่างมีนัยสำคัญ พร้อมเร่งพัฒนาและต่อยอดใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการสร้างรายได้จากการนำเนื้อหาจากพันธมิตร และ Content ของบริษัทไปเผยแพร่บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ให้แพร่หลายยิ่งขึ้น และพร้อมสนับสนุนงานด้านดิจิทัลให้กับหน่วยงานต่าง ๆ
นายสิโรตม์ กล่าวถึงแนวทางสร้างรายได้ใหม่ให้กับองค์กรว่า ฝ่ายบริหารพยายามเร่งสร้างแหล่งรายได้ใหม่ทั้งจากธุรกิจดิจิทัล รวมถึงการพัฒนาสินทรัพย์ที่ดินให้เกิดมูลค่าทางธุรกิจ ล่าสุดอยู่ระหว่างการเปิดรับข้อเสนอสำหรับการพัฒนาโครงการบนที่ดิน 50 ไร่ ย่านรัชดา จากนักลงทุนและบุคคลที่สนใจ เพื่อทดแทนรายได้กิจการสัมปทานที่สิ้นสุดลงตั้งแต่ไตรมาส 1 พร้อมกับการพัฒนาธุรกิจหลัก เช่น โทรทัศน์และวิทยุ ผลิตเนื้อหารายการที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นประโยชน์ต่อสังคม สำหรับโครงการร่วมใจจากองค์กร ประจำปี 2563 (MSP) ซึ่งเริ่มดำเนินการแล้วนั้น ผลจากการดำเนินโครงการดังกล่าวจะทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรกว่าร้อยละ 20 จากค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรปี 2563 ซึ่งจะมีผลปี 2564 เป็นต้นไป.-สำนักข่าวไทย