กรุงเทพฯ 1 ต.ค. – กนอ.ลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับบริษัทกัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล เดินหน้าพัฒนาโครงการท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 มูลค่า 47,900 ล้านบาท คาดเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ปี 68
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นสักขีพยานระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับบริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล เพื่อพัฒนาโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการลงทุนโครงการขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งเป็นพื้นที่ถมทะเล 1,000 ไร่ โดยบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นโครงการนี้ร้อยละ 70 และบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ร้อยละ 30 โดยสัญญาร่วมทุนอยู่ในรูปแบบ Public Private Partnership (PPP) NET Cost หรือร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน โดยให้เอกชนได้รับสิทธิ์ประกอบกิจการบนพื้นที่ 200 ไร่ และจัดสรรผลตอบแทนบางส่วนให้แก่ภาครัฐตามข้อตกลง กนอ.คาดว่าจะดำเนินการเสร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ปี 2568
สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 รวมมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 55,400 ล้านบาท โดยในช่วงที่ 1 จะเป็นการพัฒนาในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) โดยบริษัทคู่สัญญาที่ลงนามวันนี้ (1 ต.ค.) สามารถเข้าไปพัฒนาพื้นที่ได้ทันที ซึ่งเอกชนที่ชนะการประมูลช่วงที่ 1 จะได้สิทธิ์พัฒนาพื้นที่ท่าเรือ (Superstructure) ประมาณ 200 ไร่ รวมมูลค่าการลงทุน ประมาณ 47,900 ล้านบาท แบ่งเป็น กนอ.ร่วมลงทุนเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิไม่เกิน 12,900 ล้านบาท และภาคเอกชน 35,000 ล้านบาท ได้แก่ การขุดลอกและถมทะเล พื้นที่ 1,000 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ 550 ไร่ และพื้นที่เก็บกักตะกอน 450 ไร่ การขุดลอกร่องน้ำ และแอ่งกลับเรือ การก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น การก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานการติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการเดินเรือ ท่าเทียบเรือบริการ และท่าเรือก๊าซรองรับปริมาณการขนถ่ายก๊าซได้ 10 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี 2568
นายสมคิด กล่าวว่า รัฐบาลเริ่มโครงการอีอีซี ประมาณ 3-4 ปีมาแล้ว โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 เป็นโครงการที่มีความสำคัญ เพราะในช่วง 30-40 ปีที่มีการพัฒนาโครงการท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุด ในช่วงที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมาถึงขณะนี้ 2 โครงการใช้พื้นที่เต็มศักยภาพแล้ว การลงทุนโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 จึงเป็นศูนย์กลางพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีคัล ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่มีอุตสาหกรรมนี้มูลค่านับล้านล้านบาท ประเทศอื่นไม่มี และอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นสูงจะนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมไฮเทคต่อไป โครงการนี้จึงรองรับการเป็นศูนย์กลางพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีคัลต่อไป
โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะ 3 ช่วงที่ 1 มูลค่า 47,900 ล้านบาท ต้องการให้เร่งเดินหน้าโดยเร็ว เพราะนับเป็น 1 ใน 5 โครงสร้างพื้นฐานหลักในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หรือ EEC Project List ที่ถือเป็นโครงการแรกในการเซ็นสัญญาร่วมทุน และคาดว่าโครงการอื่น ๆ จะมีการลงนามกับผู้ชนะการประมูลตามมา โดยโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะลงนามกับเอกชนผู้ชนะการประมูล คือ กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) หรือกลุ่มซีพี ก่อนวันที่ 15 ตุลาคมนี้ และยืนยันว่าไม่ได้กดดันกลุ่มซีพี
“หากโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักของอีอีซีทยอยเดินหน้าลงนามในสัญญาไปได้ ก็จะเป็นการยืนยันว่า ประเทศไทยสามารถเริ่มต้นโครงการขนาดใหญ่อย่างอีอีซีได้ ซึ่งต่างประเทศรอดูอยู่ และด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในขณะนี้ เชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถประคับประคองจีดีพีประเทศให้เติบโตระดับที่เหมาะสม แต่โครงการนี้จะสร้างอนาคตให้ประเทศได้ และให้ประโยชน์ตกอยู่กับประชาชน” นายสมคิด กล่าว
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 จะช่วยให้การการสร้างงานในพื้นที่และเพิ่มการขนส่งสินค้าทางเรือมากขึ้นมีความปลอดภัย และอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเกิดขึ้น จะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถนำวัตถุดิบไปผลิตสินค้าขายในราคาถูกเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภค และเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนของประเทศ
นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอจี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 มีส่วนสำคัญผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โรงกลั่น หรือ LNG HUB ในอนาคตและช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศให้ดีขึ้น เชื่อว่าโครงการนี้จะเป็นโครงการหลักช่วยให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีของประเทศเข้มแข็งขึ้น และมีส่วนเกื้อหนุนธุรกิจอื่น ๆ ผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ออกมา และช่วยภาพลักษณ์เพิ่มรายได้ของประเทศด้วย
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฎิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการเปิดประตูค้าขายของประเทศและเป็นที่ที่เหมาะสร้างเท่าเรือก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ LNG capacity ความจุประมาณ 5 ล้านตันต่อปี ปัจจุบัน ปตท.มีอยู่แล้วประมาณ 11.5 ล้านตัน กำลังก่อสร้างที่หนองแฟบอีก 7.5 ล้านตัน รวมเป็น 19 ล้านตัน ถ้าตรงนี้ได้มาบวกอีก 5 ล้านตัน เชื่อว่าจะรองรับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของประเทศในอนาคต รวมถึงรองรับการที่จะให้ประเทศไทยเป็น LNG HUB ของประเทศด้วย คือ เป็นศูนย์กลางการค้าของก๊าซธรรมชาติเหลว.-สำนักข่าวไทย