กรุงเทพฯ 27 พ.ค. – รมว.เกษตรฯ สั่งด่วนถึงกรมชลประทาน รับมือฝนตกหนักทั่วประเทศ 27 – 30 พฤษภาคมนี้ ด้านอธิบดีกรมชลประทานระบุโครงการชลประทานทุกแห่งติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด วางแผนบริหารจัดการพร้อมรับน้ำหลาก และส่งน้ำไปพื้นที่ที่อาจประสบภาวะฝนทิ้งช่วงกลางฤดู
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้สั่งการด่วนที่สุดถึงอธิบดีกรมชลประทานให้วางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างรัดกุม จากประกาศกรมอุตุนิยมวิทยามีฝนตกหนักทั่วทุกภาคระหว่างวันที่ 27-30 พฤษภาคมนี้ โดยให้สำนักงานชลประทานทุกแห่งวิเคราะห์สถานการณ์ปริมาณน้ำท่าที่จะไหลลงอ่างเก็บน้ำลงสู่ลำน้ำ วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก-น้ำท่วม รวมทั้งแบ่งพื้นที่ความรับผิดชอบ กำหนดผู้รับผิดชอบ จัดสรรทรัพยากรทั้งเจ้าหน้าที่ เครื่องจักร-เครื่องมือ เช่น เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถขุด เป็นต้น เตรียมพร้อมจุดเสี่ยง พร้อมกับกำกับ ติดตาม ประเมินสถานการณ์ รายงานให้จังหวัดพื้นที่เสี่ยงกรม และกระทรวงทราบอย่างทันท่วงที นอกจากนี้ ยังสั่งการให้กรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ และกรมประมง เตรียมพร้อมลงช่วยเหลือดูแลเกษตรกรทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ในพื้นที่ รวมทั้งกระทรวงมหาดไทยด้วย
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ได้นำเครื่องมือบรรเทาอุทกภัยไปเตรียมพร้อมในเขตชลประทาน เพื่อรองรับฝนตกหนักตามคำเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยาแล้ว อีกทั้งได้สั่งการให้ทำทางระบายน้ำหรือขจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำไว้ล่วงหน้า ขณะนี้เข้าสู่ฤดูฝนแล้วแต่ปริมาณฝนยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย โดยทั้งประเทศมีปริมาณฝนสะสมรวม 229.30 มิลลิเมตร (มม.) น้อยกว่าค่าเฉลี่ย (ฝน 30 ปี) 25% ได้แก่ ภาคเหนือฝนสะสม รวม 147 มม. น้อยกว่าค่าเฉลี่ย 37% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ฝนสะสมรวม 186.50 มม. น้อยกว่าค่าเฉลี่ย 33% ภาคกลาง ฝนสะสม รวม 120.20 มม. น้อยกว่าค่าเฉลี่ย 53% ภาคตะวันออก ฝนสะสมรวม 285.20 มม. น้อยกว่าค่าเฉลี่ย 20% ภาคใต้ฝั่งตะวันออก ฝนสะสม รวม 311.10 มม. น้อยกว่าค่าเฉลี่ย 9% และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ฝนสะสมรวม 481.90 มม. น้อยกว่าค่าเฉลี่ย 6% สถานการณ์อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ละขนาดกลางทั่วประเทศ 447 แห่งมีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 39,862 ล้าน ลบ.ม. (52% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ 15,936 ล้าน ลบ.ม. (31% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) สามารถรับน้ำได้อีก 36,207 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลักได้แก่ เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 10,563 ล้าน ลบ.ม. (42% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 3,867 ล้าน ลบ.ม. (21% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) สามารถรับน้ำได้อีก 14,308 ล้าน ลบ.ม.
อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าหรือเท่ากับ 30% ของความจุอ่างมี 19 แห่ง คือ ภูมิพล สิริกิติ์ แม่กวงอุดมธารา แควน้อยบำรุงแดน แม่มอก ห้วยหลวง อุบลรัตน์ ลำปาว ลำพระเพลิง มูลบน ลำนางรอง สิรินธร ป่าสักชลสิทธิ์ ทับเสลา กระเสียว วชิราลงกรณ ขุนด่านปราการชลคลองสียัด และนฤบดินทรจินดา อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำระหว่าง 30 – 60% ของความจุอ่างมี 16 แห่ง คือ แม่งัดสมบูรณ์ชล กิ่วลม กิ่วคอหมา น้ำอูน น้ำพุง จุฬาภรณ์ ลำตะคอง ลำแชะ ศรีนครินทร์ บางพระ หนองปลาไหล ประแสร์ แก่งกระจาน ปราณบุรี รัชชประภา และบางลาง
แผนการจัดสรรน้ำตลอดช่วงฤดูฝน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2562 ถึง 31 ตุลาคม 2562 ของทั้งประเทศ (อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และแหล่งน้ำอื่น ๆ) รวม 31,008.35 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรน้ำไปแล้วรวม 3,228 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 10 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนจัดสรรน้ำรวม 10,037.03 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรน้ำไปแล้วรวม 1,312 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 13 ของแผนจัดสรรน้ำฯ
การเพาะปลูกข้าวนาปี ในช่วงฤดูฝน ปี 2562 ทั้งประเทศ วางแผนเพาะปลูกข้าวนาปี ทั้งสิ้น 16.19 ล้านไร่ ปัจจุบัน เพาะปลูกไปแล้ว 2.39 ล้านไร่ คิดเป็น 14.72 % ของแผนฯ ส่วนลุ่มน้ำเจ้าพระยาวางแผนเพาะปลูกข้าวนาปี รวม 7.65 ล้านไร่ ปัจจุบัน เพาะปลูกไปแล้ว 1.53 ล้านไร่ คิดเป็น 20.06 % ของแผนฯ เพื่อให้ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำมีเพียงพอสำหรับการใช้น้ำตลอดฤดูฝน และเก็บกักไว้ใช้ในฤดูแล้ง 2562/2563 กรมชลประทานจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคและรักษาระบบนิเวศให้เพียงพอตลอดทั้งปีการส่งเสริมการปลูกพืชฤดูฝนให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก ใช้น้ำชลประทานเสริมกรณีฝนทิ้งช่วงเท่านั้น บริหารจัดการน้ำท่าให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยระบบและอาคารชลประทาน ดำเนินการเก็บกักน้ำในเขื่อนให้มากที่สุด ไม่ต่ำกว่าเกณฑ์เก็บกักน้ำต่ำสุด ตามช่วงเวลา เพื่อความมั่นคงด้านการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศวางแผนป้องกันและบรรเทาอุทกภัย.-สำนักข่าวไทย