เชียงใหม่ 29 เม.ย. – ย้อนไปดูอีกครั้งว่า โครงการบ้านพักตุลาการ 143 ไร่ ใน จ.เชียงใหม่ ประเด็นร้อนที่เครือข่ายภาคประชาชนในเชียงใหม่ ออกมาร่วมกันคัดค้านแน่นประตูท่าแพอยู่ในขณะนี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร ติดตามจากรายงาน
สถานที่ตั้งของโครงการบ้านพักตุลาการ แรกเริ่มเป็นที่ดินของกรมป่าไม้ แต่เนื่องจากเป็นป่าเสื่อมโทรม ทำให้กองทัพภาคที่ 3 ขอใช้เป็นสถานที่ฝึกกำลังพล ในปี 2500 ซึ่งกรมที่ดินได้ออก นสล. รวมทั้งหมด 23,787 ไร่ ให้กระทรวงกลาโหมใช้ในราชการ จากนั้นกองทัพภาคที่ 3 จึงขอขึ้นทะเบียนใช้ประโยชน์เป็นที่ราชพัสดุกับกรมธนารักษ์
ต่อมาในปี 2540 สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ได้ทำเรื่องขอแบ่งพื้นที่บางส่วนไปใช้ประโยชน์ ซึ่งทางกองทัพบกได้อนุมัติพื้นที่ให้ 143 ไร่ ในปี 2547 ก่อนเดินหน้าทำเรื่องส่งคืนที่ดินดังกล่าวให้กรมธนารักษ์ เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน กระทั่งปี 2547 กรมธนารักษ์ได้ออกหนังสืออนุญาต และกระทรวงการคลัง ในฐานะกำกับดูแล ได้อนุญาตให้สำนักงานศาลยุติธรรมเข้าใช้พื้นที่ ซึ่งทั้งหมดเป็นการดำเนินการตามหลักเกณฑ์ทางราชการ
จากนั้นปี 2556 จึงเริ่มเปิดพื้นที่ก่อสร้างโครงการบ้านพักตุลาการ มูลค่ากว่า 1,017 ล้านบาท ซึ่งมีทั้งที่ทำการศาล สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 บ้านพักประธานศาล บ้านพักผู้พิพากษา และอาคารชุดสำหรับข้าราชการในสังกัด
แต่เนื่องจากโครงการนี้อยู่เชิงดอยสุเทพ ใกล้กับเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย จึงสร้างความกังวลให้กับภาคประชาชนในเรื่องการรุกล้ำผืนป่าของอุทยานฯ แห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่ในเขต อ.เมือง อ.แม่ริม และ อ.หางดง จ.เชียงใหม่ มีพื้นที่รวมกว่า 163,000 ไร่ มีลักษณะเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อนกันหลายลูก
ผืนป่าที่สำคัญของอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ได้แก่ ดอยสุเทพ ดอยบวกห้า และดอยปุย ซึ่งมีความสูงที่สุดประมาณ 1,685 เมตร จากระดับน้ำทะเล ภูเขาเหล่านี้มีพื้นที่เชื่อมติดต่อกัน เป็นแหล่งกำเนิดของต้นน้ำลำธาร ลำห้วยหลายแห่ง เช่น ห้วยแก้ว ห้วยช่างเคี่ยน และห้วยแม่ปาน ส่วนสภาพอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี. – สำนักข่าวไทย