กรุงเทพฯ 10 ต.ค.-แนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วม ที่หลายพื้นที่เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ต้องยอมรับว่ามาจากปัญหาการขยายตัวของเมืองรวดเร็ว หลายที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ และต้องเป็นพื้นที่รับน้ำ ซึ่งในทางแก้ระยะยาว กรมโยธาธิการและผังเมือง ที่รับผิดชอบด้านผังเมือง กำลังแก้ไขผังเมืองรวม และกำลังมีการออกแบบวางผังประเทศ ซึ่งมีการเพิ่มบทลงโทษทั้งอาญาและโทษปรับ ใน พ.ร.บ.ผังเมืองฉบับใหม่ อีกด้วย
การใช้ประโยชน์ที่ดินในผังเมืองรวม ตัวอย่างช่วงที่เป็นปัญหา เช่น เขตรอยต่อระหว่างกรุงเทพฯ และนนทบุรี นี่คือสี่แยกพงษ์เพชร พื้นที่เขตหลักสี่ กทม. ในผังเมืองรวม พื้นที่นี้กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นสีส้ม หรือเขตที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง แต่ถัดไปไม่กี่เมตร เป็นเขตพื้นที่เมืองนนทบุรี กำหนดใช้ประโยชน์ที่ดินในผังเมืองสีเหลือง หรือที่มีที่อยู่หนาแน่นน้อย เป็นตัวอย่างการกำหนดใช้ประโยชน์ที่ดินในสีที่แตกต่างกัน ทั้งที่อยู่ใกล้กัน หรือถนนในซอยที่ถูกถมสร้างบ้านเรือนสูงกว่าบนถนนสายหลักแบบนี้ ก็เป็นผลพวงจากการไม่บังคับใช้กฎหมายถมที่อย่างจริงจัง ล้วนส่งผลก่อปัญหาการระบายน้ำ
อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองเปิดเผยว่า ผังเมืองรวมที่แสดงเขตติดต่อระหว่างกรุงเทพฯ กับปริมณฑล ทั้งนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร และสมุทรปรากร แสดงสีที่มีการแบ่งใช้ประโยชน์ที่ดินในรูปแบบต่างๆ ที่ผ่านมาพบปัญหาความไม่สอดคล้องกัน การขยายตัวของเมืองทำให้เกิดปัญหาทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง พ.ร.บ.ผังเมืองฉบับใหม่ มีบางประเด็นที่อยู่ระหว่างแก้ไข เช่น กำหนดให้มีการวางผังประเทศ เพื่อใช้เป็นตัวกำหนดโครงสร้างผังเมืองภาพรวม บูรณาการสร้างถนน ระบบขนส่ง ระบบชลประทาน ให้มีความสอดคล้องกัน รวมทั้งเนื้อหากฎหมายยังได้กำหนดบทลงโทษกับหน่วยงานหรือผู้ที่ทำโครงการที่เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ไม่สอดคล้องกับผังประเทศ ทั้งโทษจำคุกและโทษปรับ
กรมโยธาธิการและผังเมืองกำหนดให้มีผังประเทศภายใน 2 ปี ส่วนมาตรการทางผังเมืองแก้ปัญหาน้ำท่วมขณะนี้ คือ การกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ควบคุมที่ลุ่มต่ำหรือทางน้ำหลาก เช่น ในผังเมือง กทม.และนนทบุรี กำหนดขนาดอาคาร ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมให้เป็นอาคารขนาดเล็ก ไม่ขวางการไหลของน้ำ เช่น ในสมุทรปราการ และกำหนดให้มีพื้นที่ว่างขนานตามริมคลอง เพื่อใช้เป็นพื้นที่รับน้ำล้นตลิ่ง เช่นในพื้นที่ลำลูกกา บึงยี่โถ ธัญบุรี และหนองเสือ เป็นต้น
หลังนายกรัฐมนตรีใช้อำนาจ ม.44 กำหนดไม่ให้ผังเมืองรวมหมดอายุ แต่สามารถขอแก้ไขได้ทุกปี หากพื้นที่มีการเปลี่ยนแปลง จากเดิมที่ผังเมืองรวมมีอายุการใช้งานและขยายเวลาได้ รวม 7 ปี การไม่ให้ผังเมืองรวมหมดอายุส่งผลดีกับพื้นที่ เพราะผังเมืองจะสามาถแก้ไขอิงกับการใช้ประโยชน์ได้ตามจริงมากที่สุด
มีข้อมูลว่านับจากปี 38 จนถึงปี 59 กทม.มีคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นใหม่กว่า 180,000 ยูนิต พื้นที่นอกเส้นทางรถไฟฟ้าอีก 250,000 ยูนิต ไม่นับรวมที่อยู่อาศัยอื่นๆ ที่สร้างเสร็จจดทะเบียนใน กทม.เพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก ซึ่งส่วนหนึ่งพบว่ามีการสร้างในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม เช่น ถมดินเพื่อสร้างบ้านจัดสรร หรือคอนโดฯ จนทำให้พื้นถนนต่ำกว่า หรือการสร้างในแนวฟลัดเวย์หรือในพื้นที่รับน้ำ.-สำนักข่าวไทย