กรุงเทพฯ 13 ตค. – นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการ กฟผ.อนุมัติในหลักการโครงการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้ารองรับโครงการรับซื้อไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) กลุ่มกัลฟ์ โดยระบุว่าหากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีความชัดเจนอย่างไรก็ดำเนินการตามนั้น โดยในเรื่องนี้ กกพ.ชุดเดิมเห็นชอบให้กัลฟ์ชนะประมูล 5,000 เมกะวัตต์ แต่ กกพ.คงรอฟังนโยบายจากรัฐบาลที่กำลังจะตัดสินใจว่าจะให้ก่อสร้างตามปริมาณเดิมหรือลดลงหรือไม่ หากลดลงครึ่งหนึ่งวงเงินก่อสร้างสายส่งไปรองรับโครงการนี้ก็จะลดลงด้วย
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ รองผู้ว่าการนโยบายและแผน กฟผ. กล่าวว่า โครงการสายส่งไฟฟ้าดังกล่าวมี มูลค่าทั้งโครงการ 7,250 ล้านบาท ซึ่งหากรัฐบาลเห็นชอบให้กัลฟ์ก่อสร้างตามแผนเดิมก็จะเริ่มเข้าระบบปี2564 ทาง กฟผ.ก็จะต้องสร้างสายส่งให้เสร็จภายในปี 2563 ดังนั้น กฟผ.ต้องเร่งเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปี 2560
สำหรับการดำเนินการ กฟผ.ต้องดำเนินการก่อสร้างสายส่งระยะแรก ระยะทาง 6-8 กิโลเมตร (กม.) มูลค่า 680 ล้านบาท เพื่อรองรับโรงไฟฟ้ากลุ่มกัลฟ์ ระยะแรก 2,500 เมกะวัตต์ ที่จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบปี 2564 ขณะที่เงินลงทุนส่วนที่เหลือจะใช้ในการก่อสร้างสายส่งระยะที่ 2 เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าอีก 2,500 เมกะวัตต์ ซึ่งจะต้องมีการเสริมระบบสายส่งเพิ่มเพื่อรองรับปริมาณไฟฟ้า 5,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะต้องใช้วงเงินลงทุนค่อนข้างสูง
นายกิจจา กล่าวว่า การรับซื้อไฟฟ้าโรงไฟฟ้าเกาะกง ประเทศกัมพูชา แม้จะมีข้อเสนอมายาวนานแต่ยังไร้ข้อตกลง ปัจจุบันมีผู้เสนอมา 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น (SAMART) มีกำลังผลิต 1,800 เมกะวัตต์ ,กลุ่มเกาะกง ยูทิลิตี้ โดยมี บมจ.ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น (TRC) เป็นแกนนำ มีกำลังการผลิต 2,400 เมกะวัตต์ และกลุ่มบริษัท พงษ์ทรัพย์ทวี ผู้ประกอบการจาก สปป.ลาว กำลังผลิต 1,200 เมกะวัตต์ .- สำนักข่าวไทย