กรุงเทพฯ 5 ก.พ. – คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ชี้ไทยได้ประโยชน์จากสงครามการค้ารอบใหม่ สินค้าไทยมีโอกาสขายสหรัฐเพิ่มมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน กังวลสินค้าจีนทะลักไทยพุ่ง แนะรัฐตั้งคณะกรรมการร่วมเอกชน หาแนวทางรับมือ และเร่งล็อบบี้ยิสต์เจรจาสหรัฐ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า สงครามการค้ารอบใหม่ที่เกิดขึ้นระหว่างสหรัฐฯ กับ เม็กซิโก แคนาดา และจีน ท่ามกลางการโต้กลับแบบทันควันของทั้ง 3 ประเทศ จะส่งผลลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2568 และจะยิ่งส่งผลกระทบมากขึ้นในปี 2569
เศรษฐกิจไทยปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวจำกัด การกีดกันทางการค้าที่รุนแรงและทิศทางค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่องเป็นความท้าทายต่อการส่งออก ส่วนภาคอุตสาหกรรมบางสาขาเผชิญการแข่งขันจากสินค้าต่างชาติ ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศยังอ่อนแอ จึงจำเป็นอย่างยิ่งในการวางแนวทางเพื่อลดผลกระทบทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว โดยใช้ประโยชน์จากกระแสการแยกขั้วของ Supply Chain ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งในปีที่ผ่านมาการขอรับการส่งเสริมการลงทุนสูงถึง 1.14 ล้านล้านบาทสูงสุดในรอบ 10 ปี นอกจากนี้ ยังต้องเร่งทำข้อตกลงทางการค้าเพิ่มเติมจาก FTA ไทย-EFTA ที่เพิ่งสำเร็จ เพื่อเสริมความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน
ขณะเดียวกันความขัดแย้งทางการค้ากดดันสินค้าจากต่างชาติ เข้ามาแย่งตลาดและกระทบต่อภาคการผลิตของไทย สินค้าต่างประเทศที่ล้นตลาดจากปัญหาสงครามการค้าและการแยกขั้ว (De-coupling) ทะลักเข้ามาในประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตและการจ้างงาน รวมถึงเกิดการแข่งขันด้านราคาอย่างรุนแรง จากการศึกษาผลกระทบดังกล่าวตามข้อเสนอในสมุดปกขาวของ กกร. โดยกระทรวงพาณิชนย์ พบว่า กลุ่มสินค้าสำคัญที่ได้รับผลกระทบมาก เช่น เหล็ก พลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องนุ่งห่ม แก้วและกระจก เครื่องสำอาง เป็นต้น
กกร. จึงเสนอแนวทางเตรียมความพร้อมรับมือทั้งผลกระทบจากทางตรงและทางอ้อม ดังนี้
- เร่งแต่งตั้งลอบบี้ยิสต์ เพื่อการเจรจาป้องกันและบรรเทาการใช้มาตรการทางการค้าจากสหรัฐฯ รวมทั้งสร้างความร่วมมือกับประเทศในอาเซียนเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจร่วมกัน
2.การสนับสนุนในด้านกฎหมาย กฎระเบียบการค้า เพื่อช่วยเหลือภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ
3.การบูรณาการเพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมภายในประเทศและการปฏิรูปกฎหมายเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน
4.การใช้มาตรการทางการค้าเพิ่มเติม นอกเหนือจากมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด
5.การควบคุมการตั้งหรือขยายโรงงาน รวมทั้งการให้การส่งเสริมในอุตสาหกรรมที่มีกำลังการผลิตเกินความต้องการ (Over Capacity) รวมถึงการกำกับดูแลภาคอุตสาหกรรมในเขต Freezone อย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการลักลอบนำสินค้าและวัตถุดิบกลับมาขายในประเทศ
6.การส่งเสริมสินค้าที่ผลิตในประเทศ หรือสินค้าที่ได้รับการรับรอง Made in Thailand (MIT) เพิ่มสัดส่วนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การส่งเสริมขยายตลาดภาคเอกชน รวมทั้งการกำหนดเงื่อนไข การใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศในโครงการรัฐ เช่น การกำหนดการใช้สินค้าไทยในโครงการบ้านเพื่อคนไทย ไม่น้อยกว่า 90% ของมูลค่าโครงการ
ภาครัฐควรเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการให้ความเห็นและข้อเสนอแนะในการเตรียมความพร้อมรับมือกับผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และเร่งดำเนินการแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคและไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
“การที่ รมว.พาณิชย์ เดินทางไปวอชิงตัน ดีซี เพื่อร่วมงาน NPB 2025 และเจรจาเชิงรุก กับเจรจานักลงทุน เป็นเรื่องที่ดี เพราพทรัมป์ ชัดเจนเรื่องหมูไป ไก่มา และไม่ชอบให้ประเทศอื่นได้ดุลการค้า ซึ่งปี 2567 ไทยได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ 4 หมื่นล้าน บาท ขยับขึ้นมาเป็นอันดับที่11 ซึ่งอยู่ในเรดาห์ ที่จะถูกขึ้นภาษี ดังนั้นการไปคุยก่อน ยื่นข้อเสนอก่อน จึงเป็นสิ่งควรทำ และที่ผ่านมา กกร.เคยเสนอภาครัฐตั้งวอร์รูม ร่วมกับเอกชน และเสนอให้มีล็อบบี้ยิสต์เก่งๆ ชาวอเมริกัน ไปเจรจารับมือซึ่งต้องรีบทำ ก่อนที่ล็อบบี้ยิสต์เก่งๆจะหมดก่อน เพราะประเทศอื่นๆก็ทำเช่นกัน” นายเกรียงไกร กล่าว
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม กกร.คงกรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2568 จะเติบโตได้ในกรอบ 2.4 – 2.9% เช่นเดียวกับการคาดการณ์ส่งออกจะโตได้ที่ 1.5- 2.5%ส่วนเงินเฟ้อคาดการณ์ว่าจะอยู่ในกรอบ 0.8-1.2%. -517-สำนักข่าวไทย