กรุงเทพฯ 16 ม.ค.-รัฐบาลจะเปิดตัวโครงการ “บ้านเพื่อคนไทย” อย่างเป็นทางการวันพรุ่งนี้ แต่ตัวแทนภาคอสังหาริมทรัพย์มองว่า เป็นการแก้ปัญหาการเข้าถึงที่อยู่อาศัยของประชาชน แบบไม่ตรงจุด
ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทยจัดเสวนาในหัวข้อ “บ้านเพื่อคนไทย ผลกระทบต่อผู้ซื้อบ้านและตลาดที่อยู่อาศัยไทย” โดยเชิญผู้แทนภาคอสังหาริมทรัพย์มาร่วมให้ความเห็นโครงการบ้านเพื่อคนไทยของรัฐบาลซึ่งจะมีการสร้างที่อยู่อาศัยในโครงการ “บ้านเพื่อคนไทย” จำนวน 300,000 หน่วย โดยพื้นที่สำคัญที่จะนำมาใช้คือ ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย กม. 11 ซึ่งเป็นพื้นที่ใจกลางเมือง
นายโสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทยกล่าวว่า เป็นนโยบายที่แก้ปัญหาไม่ตรงจุด ที่ผ่านมาเคยทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้ทบทวนโครงการ หากรัฐบาลจะยังคงเดินหน้าตามแผนที่วางไว้ จะกระทบต่อภาพรวมของอสังหาริมทรัพย์เนื่องจากจำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นกว่าแสนหน่วย
ทั้งนี้เที่อยู่อาศัยในราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทในกรุงเทพฯ และปริมณฑลยังมีเหลือขายเป็นจำนวนมาก หากรัฐบาลจะส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น ควรออกมาตรการสนับสนุนให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ลดภาษี และลดค่าธรรมเนียม อีกทั้งยังจะเป็นการช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถระบายสต็อกหน่วยที่อยู่อาศัยที่เหลืออยู่ได้ แทนการสร้างใหม่
ทั้งนี้การที่จะให้ภาคเอกชนลงทุน สร้างถึง 300,000 หน่วยนั้น จากการสำรวจของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทยคาดว่ายังมีที่อยู่อาศัยที่มีราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาทที่รอการขายในมือของผู้ประกอบการทั่วประเทศราว 40,000 หน่วย และยังมีบ้านรอขายในมือของประชาชนทั่วไปในราคานี้อีกราว 150,000 หน่วย จึงไม่จำเป็นต้องสร้างใหม่ ยิ่งกว่านั้นโครงการนี้อาจทำลายระบบตลาดที่อยู่อาศัยที่ภาคเอกชนก็สามารถก่อสร้างที่อยู่อาศัยแก่ผู้มีรายได้น้อยได้ดีอยู่แล้ว นักพัฒนาที่ดินเอกชนก็ยังสร้างงานนับหมื่นนับแสนงาน จ่ายภาษีมหาศาล และรัฐบาลไม่ต้องนำงบประมาณไปจ่ายเงินเดือน/อุดหนุนการขาดทุนเช่นกรณีรัฐวิสาหกิจ ดังนั้นรัฐควรส่งเสริมภาคเอกชนมากกว่าจะไปแข่งขันกับหรือทำลายภาคเอกชน
ส่วนที่รัฐบาลบอกว่า เป็นโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับคนตั้งตัวนั้น มอว่า คนหนุ่มสาวส่วนใหญ่ยังไม่คิดจะซื้อบ้าน สถานที่ทำงานยังเปลี่ยนแปลงได้ จากการศึกษาด้านพฤติกรรมผู้บริโภค ในช่วงเริ่มต้นทำงาน พวกเขาสะดวกเช่ามากกว่าซื้อ และจะซื้อบ้านก็เมื่ออายุราวๆ 30 ปีแล้วเพื่อสร้างครอบครัวเท่านั้น
นายพรเทพ ศรีนฤหล้า รองประธานกรรมการมูลนิธิประเมินค่า-นายหน้าแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ปัญหาหลักของคนที่ยังไม่มีบ้านคือ การเข้าถึงสินเชื่อหรือกู้ไม่ผ่าน แม้การนำที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยมาพัฒนาจะเป็นการทำให้เกิดประโยชน์ แต่อาจไม่ตอบ
นายเชษฐ์ ตั้งทรงจิตรากุล นายกสมาคมบริหารทรัพย์สินแห่งประเทศไทยกล่าวถึงรูปแบบการบริหารโครงการหลังจากสร้างเสร็จซึ่งจะเป็นโครงการที่เปิดให้เช่าระยะยาว 99 ปี อาจไม่สามารถจัดตั้งเป็นนิติบุคคลได้เหมือนคอนโดมิเนียมที่เอกชนสร้าง ขณะเดียวกันการคิดค่าเช่าราคาถูก อาจทำให้มีงบประมาณไม่เพียงพอในการบริหารจัดการส่วนกลางส่งผลให้เกิดปัญหาตามมาจนกระทบกับคุณภาพชีวิตของผู้ได้สิทธิ์ในระยะยาว
สำหรับโครงการ ‘บ้านเพื่อคนไทย’ (Public Housing) ที่รัฐบาลดำเนินการ จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการพรุ่งนี้ ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ โดยเป็นโครงการที่สนับสนุนให้คนไทยที่มีรายได้น้อย คนที่เพิ่งเริ่มทำงาน หรือกลุ่มคนอายุ 22-56 ปีมีโอกาสในการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยของตนเอง โดยจะเปิดให้ชมบ้านตัวอย่างในโครงการที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
กระทรวงคมนาคมได้อนุมัติงบกลางปี 2568 เพื่อใช้ในการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟฟ้ามาก่อสร้างเป็นที่พักอาศัย ห้องชุด และอาคารในอนาคต ซึ่งแบ่งออกเป็นค่าใช้จ่ายในการปรึกษาด้านสถาปัตยกรรม และะวิศวกรรม เบื้องต้นโครงการจะนำร่อง 3 โครงการ ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 116 ล้านบาท นอกจากนี้ยังศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจ้างงานออกแบบทางแนวคิด รวมทั้งการจัดดทำรายงานเบื้องต้น ใช้งบประมาณรวม 50 ล้านบาท
ทั้งนี้ ‘บ้านเพื่อคนไทย’ ในเฟสที่ 1 นำร่องพื้นที่ที่มีสาธารณูปโภค และสามารถเดินทางได้สะดวกเพราะอยู่ใกล้เคียงกับสถานีรถไฟ และสถานที่สำคัญต่างๆ ในเฟสแรกเริ่มต้นที่ 4 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่สถานีบางซื่อ พื้นที่ธนบุรี กม.11 – วิภาวดี เชียงราก จ.ปทุมธานี และพื้นที่ใน จ.เชียงใหม่ รวม 5,847 หน่วย ผ่อนอัตราดอกเบี้ย 2.5% จำนวน 30 งวด งวดละ 4,000 บาทต่อเดือน ผ่านธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) หากผ่อนครบ 30 ปี สามารถอาศัยอยู่ในโครงการได้ 99 ปี
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีแผนที่จะพัฒนาพื้นที่อื่นๆ ในปี 2569-2571 โดยเตรียมขยายโครงการ 22 โครงการและปี 2572-2576 มี 87 โครงการ.-512-สำนักข่าวไทย