กรุงเทพฯ 16 ม.ค.-“กลุ่มสู้เพื่อช้าง” ยื่นหนังสือที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อเรียกร้องให้ชะลอการใช้วัคซีนคุมกำเนิดในช้างป่าออกไปก่อน จนกว่าจะแน่ใจได้ว่า วัคซีนซึ่งเพิ่งมีการทดสอบในช้างบ้านมีความปลอดภัย พร้อมขอร่วมเข้ารับฟังการประชุมชี้แจงที่จะจัดขึ้นที่กรมอุทยานฯ วันพรุ่งนี้
นางสาวอันดามัน เอดานา แกนนำ “กลุ่มสู้เพื่อช้าง” กล่าวว่า นำคนรักช้างมายื่นหนังสือต่อนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ชะลอการใช้วัคซีนคุมกำเนิดในช้างป่าออกไปก่อนเนื่องจากเพิ่งจะมีการทดสอบในช้างบ้าน 7 เชือกเมื่อเดือนเมษายน 2567 จึงอยากให้มีทดสอบชัดเจนว่า วัคซีนมีความปลอดภัย แล้วจึงค่อยพิจารณาอีกครั้ง นอกจากนี้ยังเห็นว่า การปลูกพืชอาหารและการเสริมโป่งในป่าเป็นวิธีที่เหมาะสมกว่า
ทั้งนี้นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้มารับหนังสือร้องเรียนเพื่อนำเสนอต่อรัฐมนตรีต่อไป
นอกจากนั้นกลุ่มสู้เพื่อช้างยังประสงค์ขอเข้าร่วมรับฟังการประชุมชี้แจงและรับความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้วัคซีนคุมกำเนิดในช้างป่าซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชจะจัดขึ้นวันพรุ่งนี้ (17 มกราคม 2568) ซึ่งจะมีทั้งนักวิชาการหลายสาขา คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาติดตามผลการดำเนินงานและศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาช้างป่าอย่างยั่งยืน รวมทั้งมาตรการเยียวยาความเสียหายให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ สภาผู้แทนราษฎร ผู้แทนชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาช้างออกนอกป่า และผู้แทนกลุ่มคนรักช้างเข้าร่วมด้วย
สำหรับมาตรการควบคุมประชากรช้างป่าโดยใช้ “วัคซีนคุมกำเนิด” เป็นมาตรการที่คนรักช้างไม่เห็นด้วยอย่างมากเนื่องจากกังวลทั้งผลกระทบต่อสุขภาพช้างและเกรงว่า ช้างจะสูญพันธุ์ โดยมองว่า ควรเร่งเพิ่มพื้นที่ป่าและแหล่งอาหารช้าง รวมถึงควรยกเลิกการอนุญาตการอนุญาตให้ชาวบ้านเข้าทำกินตามโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) การอนุญาตให้ราษฎรเข้าทำกินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ รวมถึงการอนุญาตเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติทุกกรณี
กลุ่มคนรักช้างยังมองว่า ปัญหาที่เกิดในภาคตะวันออกเป็นเพราะชาวบ้านรุกป่าเพื่อนำพื้นที่มาทำเกษตรกรรม จนเป็นเหตุให้ช้างออกนอกป่า รวมทั้งห่วงว่า คนในพื้นที่จะทำร้ายช้างจนบาดเจ็บและล้มตาย อีกทั้งยังมีอีกหลายมาตรการที่สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาเช่น การสร้างแหล่งอาหาร แหล่งน้ำ เสริมโป่งให้แก่ช้าง การสร้างแนวกันชันระหว่างป่ากับพื้นที่เกษตร
ส่วนชาวบ้านในชุมชนโดยรอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์ชี้แจงว่า พวกเขาไม่ได้บุกรุกป่า แต่อยู่อาศัยและทำการเกษตรในพื้นที่มานานหลายสิบปี ในระยะ 5 – 6 ปีที่ผ่านมา ช้างออกนอกป่ามากินพืชผลทางการเกษตรเสียหายอย่างมาก แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ช้างทำร้ายชาวบ้านจนบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย ทำให้ต้องอยู่ด้วยความหวาดกลัวตลอดเวลา
ขณะที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชระบุว่า วัคซีนคุมกำเนิด SpayVac® ที่จะนำมาทดสอบในช้างป่านั้น เป็นงานดำเนินงานใน “โครงการศึกษาวิจัยการใช้วัคซีนคุมกำเนิดแก่ช้างป่า” ซึ่งกรมอุทยานฯ ร่วมกับศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ศึกษาและพัฒนา วัคซีนคุมกำเนิด SpayVac® มีการใช้งานจริงในช้างแอฟริกามาแล้ว โดยทดสอบฉีดวัคซีนคุมกำเนิดในช้างเพศเมียเต็มวัย 7 เชือก ตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2567 มีการเก็บตัวอย่างเลือด ตรวจสุขภาพ และติดตามผลหลังการฉีดวัคซีน โดยวัคซีน 1 เข็ม จะควบคุมได้ระยะยาว 7 ปี ผลการทดสอบพบว่า วัคซีนไม่มีผลต่อพฤติกรรมและสรีระของช้าง เป็นเพียงการควบคุมมฮอร์โมนช้างเพศเมียไม่ให้มีลูก ผลการทดลองหลังการฉีดวัคซีนพบว่าวัคซีนมีความปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียง ช้างไม่มีอาการอักเสบ ไม่ส่งผลกระทบต่อช้างที่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ ไม่ส่งผลเสียต่อพฤติกรรมของตัวช้าง และพฤติกรรมทางสังคมของช้างป่า จึงได้มีโครงการนำร่อง เพื่อขยายผลการใช้วัคซีนคุมกำเนิดระยะยาวในช้างป่า
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชจึงได้จัดประชุมชี้แจงสถานการณ์และการแก้ไขปัญหาช้างป่า และรับฟังความคิดเห็นการควบคุมกำเนิดช้างป่า เพื่อสร้างความเข้าใจต่อสถานการณ์และการดำเนินโครงการ ตลอดจนรับฟังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับประชาชนเพื่อร่วมกับหาแนวทางในการจัดการและแก้ไขปัญหาช้างป่าและการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์และการจัดการประชากรช้างป่าให้มีปริมาณที่สมดุล ลดปัญหาระหว่างคนกับช้างป่า โดยทุกภาคส่วนและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในดูแล เกิดการอนุรักษ์และจัดการช้างป่าอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน.-512.-สำนักข่าวไทย