กรุงเทพฯ 7 ธ.ค.-นายกฯ สั่งการ ศปช.ภาคใต้ เร่งระดมกำลังช่วยอีก 4 จังหวัดที่เหลือ ก่อนรับฝนอีกระลอกสัปดาห์นี้ พร้อมขอให้เร่งสำรวจจัดทำแผนเยียวยา เฟส2 ต่อทันที
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) เช้าวันนี้ (7 ธ.ค.) รับทราบข้อสั่งการ จากนายกรัฐมนตรี ที่ให้ติดตามความคืบหน้าสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อจัดเตรียมทำข้อมูล เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยที่ประชุม ศปช.รายงานว่า จากการพยากรณ์อากาศและสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่มีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับจากพื้นที่ประสบภัยทั้งหมด ที่ผ่านมามี 10 จังหวัด ขณะนี้คลี่คลายแล้ว โดยยังมีพื้นที่ประสบภัยอีก 4 จังหวัด ได้แก่จังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส ขณะที่ตัวเลขผู้ประสบภัยลดลงจาก 664,173 ครัวเรือน เหลือ 33,255 ครัวเรือนแล้วในวันนี้
ขณะที่วานนี้ (6 ธ.ค.) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วยนางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ จ.ยะลา และปัตตานี เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัย ได้มีข้อสั่งการให้ ศอ.บต.ในฐานะ ศปช.ส่วนหน้า เร่งช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยให้ สทนช. กรมชลประทาน และปภ. เร่งระบายน้ำในพื้นที่ให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว พร้อมกันนี้ ให้บริหารจัดการน้ำในเขื่อนบางลาง ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนท้ายเขื่อน โดยให้กรมประชาสัมพันธ์ติดตามข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่อย่างทันท่วงที โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 12-16 ธ.ค.ที่จะมีฝนตกหนักอีกระลอก
“กรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งเตือนว่าจะมีฝนตกหนักอีกระลอกช่วงกลางเดือนนี้ ในพื้นที่ภาคใต้ตอนกลาง โดยเฉพาะ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และ สงขลา ศปช.จึงได้สั่งการให้ ปภ. เข้าประจำการในพื้นที่ เพื่อให้การช่วยเหลือทั้งเครื่องสูบน้ำ เรือ และรถการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ผู้พิการและผู้ป่วยติดเตียง” นางสาวศศิกานต์ กล่าว
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า สำหรับ 4 จังหวัดที่ยังประสบภัย กรมชลประทานได้ระดมเครื่องสูบน้ำ 118 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 31 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำ เนื่องจากยังมีผู้ประสบภัย 20,988 คนที่ต้องพักอาศัยในศูนย์พักพิง นอกจากนี้ ยังได้ระดมกำลังพล เจ้าหน้าที่อาสาสมัคร แจกจ่ายถุงยังชีพ อาหารปรุงสุกจากโรงครัวพระราชทาน และทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข 1,218 ทีม เข้าดูแลทุกพื้นที่แล้ว
“ขณะนี้ ปภ.ทุกจังหวัดทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วน รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่สำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหาย เพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ และระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่ให้เร่งช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยให้เร็วที่สุด” นางสาวศศิกานต์ กล่าว.-316.-สำนักข่าวไทย