ทำเนียบรัฐบาล 15 พ.ย.- รองโฆษกรัฐบาล เผยทั่วไทยยังมีฝน แนะพกร่มก่อนไปลอยกระทง เตือนประชาชนริมเจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง เฝ้าระวังน้ำหนุน 16-23 พ.ย.นี้ ส่วนกรณีน้ำผุดบ้านรินหลวง จ.เชียงใหม่ เกิดจากปรากฏการณ์กาลักน้ำ
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. ได้รับรายงานจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์สภาพอากาศวันนี้ (15 พ.ย. 67) ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ตอนบนมีฝน ฝนฟ้าคะนอง โดยภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนยังคงมีอากาศเย็น กับมีหมอกในตอนเช้า ทั้งนี้เนื่องจากลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้ และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ตอนบน ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีกำลังอ่อน
“ขอให้ประชาชนที่จะออกเดินทางไปท่องเที่ยวเนื่องในเทศกาลลอยกระทงวันนี้ควรพกร่มหรือเสื้อกันฝนติดตัวไว้ด้วย เนื่องจากหลายพื้นที่ในประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนัก รวมทั้งดูแลสุขภาพของตนเองจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในช่วงนี้”
นางสาวศศิกานต์ ยังกล่าวถึง ระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง ในช่วงวันที่ 16-23 พฤศจิกายน 2567 เนื่องจากอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูง จึงมีโอกาสเกิดน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราว บริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) จึงขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงดังกล่าวในจังหวัดสมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม และสมุทรสงคราม
“ขอให้ประชาชนและผู้ประกอบการบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนในช่วงดังกล่าว หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่สายด่วน 1567”
นางสาวศศิกานต์ กล่าวถึงกรณีน้ำผุดส่งผลกระทบต่อประชาชนที่บ้านรินหลวง ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ โดยเมื่อวานนี้ (14 พ.ย. 67) หน่วยงานสำนักทรัพยากรน้ำบาดาลเขต 1 (ลำปาง) ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ และเทศบาลตำบลเมืองนะ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูล พบว่า พื้นที่ตั้งแต่บ้านรินหลวงขึ้นไปทางเหนือจนถึงบ้านอรุโณทัย มีลักษณะเป็นที่ราบหุบเขาหลุมยุบขนาดใหญ่ และจะมีหลุมยุบ (sinkhole) อยู่บางจุด ซึ่งเกิดจากการยุบตัวของถ้ำหินปูนที่อยู่ใต้ดิน โดยระดับน้ำที่ผุดขึ้นมาสะสมในแต่ละพื้นที่มีความลึกตั้งแต่ 8 – 20 เมตร สมมติฐานของการปรากฏของน้ำคาดว่าเกิดจากปรากฏการณ์ “กาลักน้ำของระบบถ้ำใต้ดิน” ซึ่งจะเกิดขึ้นในปีที่มีฝนตกมาก
“การแก้ปัญหาดังกล่าว กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำ พิจารณาแนวทางการกักเก็บน้ำเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในระยะยาวก่อนที่น้ำเหล่านี้จะไหลคืนสู่ชั้นน้ำบาดาลตามธรรมชาติ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวประสบปัญหาขาดแคลนน้ำสะอาดสำหรับอุปโภค บริโภค และจำเป็นต้องเจาะน้ำบาดาลในระดับความลึกกว่า 200 เมตรขึ้นไปจึงจะพบชั้นน้ำ นอกจากนี้จะพิจารณาแนวทางบริหารจัดการน้ำเพื่อลดผลกระทบในระยะยาวต่อไป” รองโฆษกฯ กล่าว.-316 -สำนักข่าวไทย