เมืองทองธานี 16 ต.ค. – สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ ทรงเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 5 และการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ครั้งที่ 3 ทรงให้กำลังใจครู “ไม่ควรหยุดเรียนรู้ ต้องปรับตัว เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอน” พบหลากเทคนิคการสอนจากสุดยอดครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี 11 ประเทศในอาเซียนและติมอร์-เลสเต เน้นกระตุ้นการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงสู่ชีวิตจริง
เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2567 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 5 ปี 2567 และการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางกาศึกษา ครั้งที่ 3 พร้อมกันนี้ทรงทอดพระเนตรและทรงรับฟังการนำเสนอผลงานของครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี รุ่นที่ 5 และทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรีผสมผสานระหว่างดนตรีสายใยจามจุรีและคณะครูเครือข่ายมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ณ อาคารอิมแพค ฟอรั่ม 2 เมืองทองธานี โดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ จาก 11 ประเทศ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง พร้อมกันนี้ได้มีถ่ายทอดสดไปยังสถานเอกอัครราชทูตในประเทศอาเซียน ติมอร์-เลสเต บังกลาเทศ มองโกเลีย และภูฏาน
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสในการประชุมวิชาการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 5 ว่า เป็นเวลา 10 ปีแล้ว นับตั้งแต่มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2558 ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นครูที่มีความโดดเด่นของอาเซียนและติมอร์-เลสเต ซึ่งเป็นผู้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ระหว่างปี พ.ศ. 2558-2566 มาร่วมงานเฉลิมฉลอง และในปีหน้าจะมีครูดีเด่นจากอีก 3 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน และมองโกเลีย มาร่วมฉลองกับเรา
ช่วงศตวรรษที่ 21 จะได้รับอิทธิพลจากเทคโนโลยีเกิดใหม่มากมาย เช่น AI เรา ในฐานะที่เป็นครู ต้องปรับตัวและพยายามเรียนรู้ว่าเทคโนโลยีใหม่จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนอย่างไร แม้เทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แต่ทักษะการเรียนรู้หลักก็ควรจะยังคงอยู่ ทักษะหลักเหล่านี้ ได้แก่ การรู้หนังสือ ความสามารถในการทำงาน ความสมดุลในตนเอง จริยธรรม และการปรับตัวเชิงสังคม ครูจึงไม่ควรหยุดเรียนรู้ เราต้องมีกลยุทธ์สำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตัวข้าพเจ้าเองพบว่าการเดินทางและการเขียนเป็นการเรียนรู้ที่ดี ข้าพเจ้าเขียนหนังสือกว่า 60 เล่ม และนำความรู้ไปช่วยผู้ที่เสียเปรียบและผู้ที่อยู่ในชนบทห่างไกล ข้าพเจ้าอยากจะสนับสนุนให้ทุกๆ ท่านท้าทายตัวเองในการหาแนวทางการปฏิบัติที่ดีขึ้น
ขอให้เราใช้โอกาสนี้ในการแบ่งปันสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการสอนของเรา แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และทำงานร่วมกันเพื่อยกระดับเส้นทางการสอนและการเรียนรู้ของเรา เพื่อสร้างความแตกต่างเชิงบวกในชีวิตของนักเรียนทุกคน ขอให้ครู PMCA เป็นดั่งแสงสว่างแห่งแรงบันดาลใจ จุดประกายความอยากรู้อยากเห็นในจิตใจของเด็ก ๆ นำทางพวกเขาผ่านความท้าทาย และเฉลิมฉลองชัยชนะของพวกเขา
พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การประชุมวิชาการนานาชาติ จะจัดสลับกับการพระราชทานรางวัลมูลนิธิสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เพื่อเชิดชูครูดีเด่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ครูผู้ได้รับพระราชทานรางวัลได้นำเสนอและแลกเปลี่ยนแนวทางการทำงาน มุมมองทางการศึกษา และความรู้อันเป็นประโยชน์ต่อวิชาชีพครู ในปีนี้มีครูผู้ได้รับพระราชทานรางวัลทั้งสิ้น 44 คน จาก 11 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เข้าร่วมการประชุม เพื่อสร้างแรงบันดาลใจที่จะช่วยยกระดับศักดิ์ศรีและศักยภาพในการประกอบวิชาชีพให้แก่เพื่อนครูต่อไป
ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวว่า รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เป็นรางวัลเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติครูผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์ และมีคุณประโยชน์ต่อการศึกษาในประเทศอาเซียนและติมอร์-เลสเต ประเทศละ 1 รางวัล โดยจัดมอบรางวัลในทุก 2 ปี และเพื่อถวายเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เจ้าฟ้านักการศึกษา ซึ่งในปีนี้จะเพิ่มเติมประเทศบังกลาเทศ ภูฏาน และมองโกเลีย รวม 14 ประเทศ เพื่อเข้ารับพิธีพระราชทานรางวัล ในวันที่ 17 ตุลาคม 2568
ดร.กฤษณพงศ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ยังดำเนินกิจกรรม “After award activity” เพื่อต่อยอดการทํางานให้แก่ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี อาทิ การจัดประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี (PMCA Forum) เพื่อให้ครูได้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ของครูผู้ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีในแต่ละรุ่น รวมถึงการต่อยอดและสนับสนุนการทำงานของครูบนโจทย์ความต้องการของครูในแต่ละประเทศ ผลการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อครู ลูกศิษย์ และวงการศึกษา โดยครูผู้เป็นพลังแห่งการสร้างเด็กเยาวชนและเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาเพื่ออนาคต
สำหรับการประชุมวิชาการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี มีครูผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 5 มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่น่าสนใจ ดังนี้
- นายโมฮาหมัด อาเมียร์ เออร์วัน ฮาจี ม๊อกซิน (Mr. Mohamad Amir Irwan Haji Moksin) ประเทศบรูไนดารุสซาลาม ครูสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนประถมศึกษา Pengiran Kesuma Negara Bukit Beruang แลกเปลี่ยนว่า การเล่นเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ในกลุ่มเด็กปฐมวัย รวมถึงการจัดสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ เช่น การเลือกหนังสือให้น่าสนใจในห้องสมุด การจัดพื้นที่สำหรับเด็กพิเศษเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ รวมถึงการสอนแบบผสมผสานโดยใช้เทคโนโลยี
- นางจักรียา เฮ (Mrs. Chakriya Hay) ประเทศกัมพูชา ครูสอนคณิตศาสตร์ในโรงเรียนระดับมัธยมปลาย Sok An Samrong High School จังหวัดตาแก้ว ผู้ผสมผสานวิชา STEM ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ มีการพัฒนากิจกรรมทดลองทางวิทยาศาสตร์และเกม โดยมีเป้าหมายต้องการพัฒนานักเรียนให้มีประสบการณ์เรียนรู้ที่ดี มีจริยธรรม เพราะการศึกษาที่ดีจะช่วยพัฒนาชีวิตที่ดีขึ้น
- นางฮาริสดายานี (Mrs. Harisdayani) ประเทศอินโดนีเซีย ครูสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนประถมศึกษา SMP Negeri 2 Binjai ผู้ใช้เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดีย แลกเปลี่ยนว่า หลังจากที่ได้รับพระราชทานรางวัลฯ ได้นำเงินส่วนหนึ่งมาปรับปรุงอาคารเรียนและพัฒนาสื่อการสอน ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษเพิ่มเติม จากเดิมที่เรียนเพียง 2 คาบ/สัปดาห์ และทำงานร่วมกับนักจิตวิทยา เพื่อทำแบบทดสอบการวัดทักษะความสนใจของผู้เรียน
- นางกิมเฟือง เฮืองมะนี (Mrs. Kimfueang Heuangmany) สปป ลาว ครูใหญ่และครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาในโรงเรียนประถมศึกษา The Pheermai เมืองละมาม แขวงเชกอง แลกเปลี่ยนแรงบันดาลใจของการเป็นครู เพราะในสมัยเรียนมีครูไม่เพียงพอ หลังจากได้รับพระราชทานรางวัลฯ ได้นำเงินมาพัฒนาโรงเรียน อาทิ เครื่องกรองน้ำ สื่อการสอน ส่งเสริมกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ผ่านการปรุงน้ำหมักจุลินทรีย์ ทำให้วิทยาศาสตร์กลายเป็นเรื่องใกล้ตัว
- นายไซฟูนิซาน เช อิสมาเอลท (Mr. Saifulnizan Che Ismail) ประเทศมาเลเซีย ครูคณิตศาสตร์ที่มีพื้นฐานด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์และไอที โรงเรียนประถมศึกษา Sekolah Kebangsaan Raja Bahar ในโกตาบารู แลกเปลี่ยนการเรียนรู้คณิตศาสตร์สู่ชีวิตประจำวัน เช่น การจัดทำสวนสมุนไพรและเลี้ยงผึ้งในโรงเรียน โดยใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์และทักษะชีวิต ในการคำนวณปริมาณน้ำผึ้ง การใช้แอปพลิเคชันผ่าน Story telling และหุ่นยนต์ เพื่อพัฒนานักเรียนก้าวเข้าสู่สังคมดิจิทัล
- ดอ อาย ซู หวิ่น (Daw Aye Su Win) ประเทศเมียนมา ครูสอนภาษาอังกฤษ โรงเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานในเมือง Hlaingtharyar Township แลกเปลี่ยนว่า หลังจากได้รับพระราชทานรางวัลฯ ได้นำไปพัฒนาโรงเรียน เช่น ไฟฟ้า ระบบกรองน้ำ พื้นที่ล้างมือในโรงเรียน รวมถึงพัฒนาภาษาอังกฤษ ทั้งการอ่าน เล่านิทาน เพื่อช่วยให้นักเรียนมีความพร้อมในการสื่อสารภาษาอังกฤษ และการพัฒนากิจกรรมนอกห้องเรียน เช่น การปลูกผัก การป้องกันยุงลายในโรงเรียน
- นายเจอร์วิน วาเลนเซีย (Mr. Jerwin Valencia) ประเทศฟิลิปปินส์ ครูคณิตศาสตร์ โรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งชาติไดกราส โรงเรียนชั้นนำของจังหวัดอีโลโคสนอร์เต แลกเปลี่ยนการสอนจากมุมมองคณิตศาสตร์เป็นเพียงวิชาสู่การผสาน M.A.T.H. เข้ากับชีวิตประจำวัน เน้นการลงมือทำ โดยผู้เรียนมีความเป็นเลิศทางวิชาการ และการช่วยเหลือคนในชุมชนโดยทำงานร่วมกับท้องถิ่น เช่น การซ่อมแซมบ้านผู้ประสบภัยและขาดโอกาส
- นางชิว หลวน เพนนี ชง (Mrs. Chew Luan Penny Chong) ประเทศสิงคโปร์ ครูการศึกษาพิเศษ ที่มีความบกพร่องทางสายตา โรงเรียน Ahmad Ibrahim Secondary School แลกเปลี่ยนวิธีการเรียนที่มีประสิทธิภาพสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น พัฒนานักเรียนให้เป็นผู้ประกอบการ การจัดทัศนศึกษาเพื่อให้นักเรียนที่บกพร่องทางการมองเห็นเรียนรู้ร่วมกับนักเรียนทั่วไป รวมถึงการพัฒนาศักยภาพครูผู้สอนนักเรียนที่บกพร่องการมองเห็น
- นางสาว ฟิโลมินา ดา คอสต้า (Ms. Filomena da Costa) ประเทศติมอร์-เลสเต ครูสอนภาษาอินโดนีเซียในโรงเรียนมัธยมปลาย Saint Miguel Arcanjo Secondary School แลกเปลี่ยนว่า หลังจากได้รับพระราชทานรางวัลฯ รวมถึงได้รับรางวัลนักสิทธิมนุษยชนของประเทศ ได้นำเงินมาพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งใจจะพัฒนาชุมชน โรงเรียน เช่น ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ เพื่อให้คนในชุมชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับติมอร์-เลสเต
- นายมา หุ่ง เหงียน (Mr. Manh Hung Nguyen) ประเทศเวียดนาม รองผู้อำนวยการโรงเรียน Hoang Van Thu High School for the Gifted แลกเปลี่ยนการบริหารงานโรงเรียนและการสอนภูมิศาสตร์ นอกจากพัฒนาผู้เรียนให้เป็นเลิศทางวิชาการ ยังมีการสอนทักษะชีวิต เช่น ทักษะการสื่อสาร การทำงานเป็นทีม กิจกรรมวิจารณ์หนังสือเพื่อส่งเสริมการอ่านและคิดวิเคราะห์ ทักษะเอาชีวิตรอดจากอัคคีภัย ภัยธรรมชาติ การปฐมพยาบาล และการพัฒนานักเรียนให้มีหัวใจเมตตา โดยพานักเรียนเยี่ยมบ้านผู้ประสบภัย เพื่อให้นักเรียนพร้อมเผชิญความท้าทายในยุคปัจจุบัน
- นายนิวัฒน์ เงินงามมีสุข ประเทศไทย ครูการศึกษานอกโรงเรียนที่บ้านโมโคคี บ้านมอโก้คี ผู้บุกเบิกศูนย์การเรียนรู้ชุมชนพื้นที่เขาแม่ฟ้าหลวง จังหวัดตาก แลกเปลี่ยนว่า กิจกรรมศูนย์การเรียนรู้กาแฟมอโกคี มีทั้งเกษตรกร และประชาชนที่สนใจมาร่วมเรียนรู้ อาทิ การจัดการชุมชนเพื่อพัฒนาอาชีพที่เชื่อมต่อกับการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ การประกาศแนวเขตป่า ทำให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน และการขยายผลการเรียนรู้ไปยังเครือข่ายชุมชนอื่นๆ ร่วมกับ กสศ.-416-สำนักข่าวไทย