ทำเนียบฯ 12 ธ.ค. – นายกรัฐมนตรี ย้ำแก้ปัญหาหนี้ทั้งระบบให้จบภายในรัฐบาลนี้ ห่วงหนี้บัตรเครดิตอาการหนัก 67,000 ล้านบาท ดึง ธ.ก.ส. ออมสิน สางหนี้ครู-ตำรวจ
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวจัดการหนี้ทั้งระบบ โดยมีนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแถลง ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีร่วมแถลง
“ปัญหาโควิด -19 กระทบไปหลายส่วน ทำให้หนี้ครัวเรือนสูงถึงร้อยละ 90 GDP มูลหนี้ 16 ล้านล้านบาท หนี้บัตรเครดิต 5.4 แสนล้านบาท เริ่มมีอาการหนัก 67,000 ล้านบาท นับว่าหนี้ในระบบ มีปัญหาไม่แพ้กับหนี้นอกระบบ ทั้งหนี้สินล้นพ้นตัว บางรายเป็นหนี้เสียคงค้างเป็นเวลานานจนขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ ดังนั้น การดูแลลูกหนี้ในระบบที่ประสบปัญหาจึงถือเป็นวาระแห่งชาติเช่นเดียวกัน เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว รัฐบาลไม่สามารถปล่อยให้ลูกหนี้ที่ประสบปัญหานี้เผชิญปัญหาอยู่อย่างลำพัง เพื่อให้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของกลไกทางเศรษฐกิจแข็งแรง” นายกรัฐมนตรี กล่าว
รัฐบาลได้แบ่งกลุ่มลูกหนี้ในระบบที่ประสบปัญหา ออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 คือ ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มที่มีรายได้ประจำ แต่มีภาระหนี้จำนวนมาก จนเกินศักยภาพในการชำระคืนหนี้ กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน ทำให้การชำระคืนหนี้ไม่ต่อเนื่อง และกลุ่มที่ 4 คือ กลุ่มที่เป็นหนี้เสียคงค้างเป็นระยะเวลานาน ซึ่งทุกกลุ่มที่ตนเองกล่าวไปทั้งหมด มีข้อสังเกตที่เหมือนกันอย่างนึงว่า ลูกหนี้ไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้จนกลายเป็นหนี้เสีย เมื่อเป็นหนี้เสียก็ถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยปรับเพิ่ม และวนกลับไปทำให้ชำระไม่ไหวอีก วงจรแบบนี้ส่งผลให้ติดเครดิตบูโร ไม่สามารถขอสินเชื่อในระบบต่อได้ หรือบางรายที่ค้างชำระเป็นเวลานาน ก็จะถูกดำเนินการตามกฎหมาย แม้ว่าลูกหนี้ทุกกลุ่มจะมีสภาพปัญหาคล้ายกัน แต่ต้นตอของปัญหานั้นต่างกัน ดังนั้น รัฐบาลจึงเตรียมแนวทางช่วยเหลือที่แตกต่างกันตามสาเหตุของปัญหา เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะของลูกหนี้แต่ละกลุ่ม ดังนี้
ลูกหนี้กลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มเอสเอ็มอี ประมาณ 3 ล้านราย เคยมีประวัติการชำระหนี้ดี เมื่อได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ธุรกิจต้องสะดุดหยุดลง ขาดสภาพคล่อง จึงให้พักชำระหนี้ 1 ปี และลดดอกเบี้ยร้อยละ 1 สำหรับลูกหนี้รายย่อย ส่วนใหญ่มีหนี้เสียกับธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. คาดว่าช่วยเหลือกลุ่มนี้ ประมาณ 1.1 ล้านราย ส่วนลูกหนี้ SMEs แบงก์รัฐจะเข้าไปช่วยเหลือผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และพักชำระหนี้ให้กับ SMEs ครอบคลุมมากกว่าร้อยละ 99 ของลูกหนี้ NPL กว่า 100,000 ราย
กลุ่มที่ 2 คือ ลูกหนี้มีรายได้ประจำ เช่น กลุ่มข้าราชการ ครู ตำรวจ ทหาร และกลุ่มลูกหนี้บัตรเครดิต แบ่งการช่วยเหลือผ่าน 3 แนวทาง แนวทางแรก คือการลดดอกเบี้ยสินเชื่อไม่ให้สูงจนเกินไป เพราะเป็นกลุ่มที่มีรายได้ประจำและถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ แนวทางที่สอง การโอนหนี้ทั้งหมดไปยัง สหกรณ์ของแต่ละองค์กร เพื่อตัดเงินเดือนนำมาชำระหนี้ไม่เกินร้อยละ 70 ของเงินเดือน แนวทางสุดท้าย คือ การบังคับใช้หลักเกณฑ์การตัดเงินเดือน ให้ลูกหนี้มีเงินเดือนเหลือเพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี ทั้งสามแนวทางนี้ จะต้องทำ “พร้อมกัน” ทั้งหมด ยอมรับว่า หนี้บัตรเครดิต 23.8 ล้านใบ มูลหนี้ 5.4 แสนล้านบาท เริ่มมีอาการหนัก 67,000 ล้านบาท
ลูกหนี้กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน จึงชำระคืนหนี้ไม่ต่อเนื่อง เช่น เกษตรกร ลูกหนี้เช่าซื้อ ต้องคิดดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 10 จักรยายนต์ไม่เกินร้อยละ 23 และลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 2.3 ล้านราย กลุ่มนี้จะได้รับการช่วยเหลือ ด้วยการพักชำระหนี้ชั่วคราว การลดดอกเบี้ย หรือลดเงินผ่อนชำระในแต่ละงวดให้ต่ำลง เพื่อให้สอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้ เช่น ลูกหนี้เกษตรกร ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและปริมาณผลผลิตตามฤดูกาล ขณะนี้ได้พักชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรแล้ว โดยพักทั้งหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี มีเกษตรกรเข้าร่วมการพักหนี้กว่า 1.5 ล้านราย ลูกหนี้กลุ่มที่ 4 กลุ่มนี้เป็นหนี้เสียคงค้างกับสถาบันการเงินของรัฐ มาเป็นระยะเวลานาน จึงต้องโอนหนี้ไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ SAM หรือบริษัทบริหารสินทรัพย์ต่างๆ เพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ คาดว่าช่วยเหลือลูกหนี้ประมาณ 3 ล้านราย หวังลดภาระดอกเบี้ยจากร้อยละ 16-25 เหลือไม่เกินร้อยละ 15 หากปิดจบหนี้ภายใน 5 ปี
นายกรัฐมนตรีย้ำว่า ท้ายที่สุดเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ให้สำเร็จและมีผลอย่างยั่งยืนหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้ร่วมกันเสริมความรู้ ยืนยันรัฐบาลห่วงใยลูกหนี้ทุกกลุ่มและได้มีแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้ ทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะยาว การดำเนินมาตรการให้สำเร็จได้ จะต้องอาศัยความร่วมมือจากลูกหนี้ เจ้าหนี้ และหน่วยงานต่าง ๆ หลายภาคส่วน ขอมอบนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ให้มาร่วมกันแก้หนี้ทั้งระบบให้จบภายในรัฐบาลนี้ ร่วมกันสำรวจและซ่อมแซมกลไกทางเศรษฐกิจ เพื่อทำให้เครื่องจักรทางเศรษฐกิจเราทำงาน เติบโต และขยายตัวต่อไปได้
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มาตรการแก้ปัญหาหนี้ในประบบ เริ่มขึ้นโดยทันที เช่น การหักเงินเดือนราชการ รัฐวิสาหกิจ ให้ปรับมาชำระหนี้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ในองค์กร ทำหน้าที่ปล่อยกู้โดยตรง โดย ธ.ออมสิน จะเข้าไปช่วยดูแลเพิ่มเติม เพื่อให้สหกรณ์มีทุนปล่อยกู้สวัสดิการเพิ่มเติม หวังลดภาระหนี้ให้สอดคล้องกับความเสี่ยง บางแห่งคิดดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 7-8 ให้ปรับลดลงเหลือร้อยละ 5 จะทำให้ครู ตำรวจ ทหาร ข้าราชการ มีภาระลดลง ส่วนการยืดอายุชำระ จะทำให้การผ่อนชำระต่องวดลดลง ต้องการเริ่มในเดือนมกราคมปี 67 เริ่มในบางหน่วยงาน.-515-สำนักข่าวไทย