กรุงเทพฯ 8 ธ.ค.-นายกฯ ขอบคุณ Google ร่วมมือรัฐบาลไทย นำเทคโนโลยีใช้ทำงานในชีวิตประจำวัน เชื่อ AI-Cloud ตอบโจทย์พันธกิจ พัฒนาธุรกิจไทย บอกสวมหมวกรัฐบาล ทำงานเชิงรุก หวังคนไทยกินดีอยู่ดี
ที่โรงแรมวอลดอร์ฟ แอสโทเรีย กรุงเทพฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน “Google Digital Samart Thailand” ว่า ขอขอบคุณผู้บริหาร Google และหลายภาคส่วนที่สำคัญ ทั้งภาคธุรกิจ ประชาชนคนไทย ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่าง Google และรัฐบาลไทย วันนี้การนำเทคโนโลยี Google มาใช้ในการทำงานและชีวิตประจำวัน การพัฒนาขีดความสามารถและการใช้งานจำนวนมากในภาคประชาชนและธุรกิจ ล้วนเป็นจุดเริ่มต้นของงานในวันนี้
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นอกจาก Google เป็นผู้นำทางด้านดิจิทัลแล้ว ยังใส่ใจในความแตกต่างของผู้คนในสังคม หน่วยงานในภาครัฐ และภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ตนได้เห็นภาพชัดเจนของโครงการและการลงทุนต่างๆ ของ Google โดยเฉพาะด้าน AI และ Cloud นั้น จะตอบโจทย์พันธกิจของ Google ช่วยประเทศไทย พัฒนาคนไทยและธุรกิจไทยอย่างแน่นอน
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า วันนี้สวมหมวกใหม่ในฐานะรัฐบาล เราให้ความสำคัญในการทำงานเชิงรุกที่สร้างความอยู่ดีกินดีให้กับประชาชนคนไทย ซึ่งที่ผ่านมาก็พยายามดำเนินนโยบายหลังเร่งด่วนมาโดยตลอด พร้อมขอย้ำเสมอว่า ประเทศไทยอยู่ท่ามกลางความท้าทายของสภาพเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน และตนได้ออกไปเชิญนักธุรกิจทั่วโลกในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เป็นที่ประจักษ์ดีว่า เพื่อประกาศให้โลกรู้ประเทศไทยเปิดแล้วสำหรับการทำธุรกิจ และเราจะทำให้ประเทศไทยกลับมาเป็นจุดมุ่งหมายการลงทุนของนักลงทุนชั้นนำอีกด้วย ยกระดับเศรษฐกิจไทยให้ไปสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล นำ AI และ Cloud เข้ามาพัฒนาการให้บริการประชาชน นำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจมูลค่าสูง ด้วยกลยุทธ์การดำเนินการที่กล่าวไปแล้ว เราได้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในหลายมิติ
“ต้องเล่าให้ฟังถึงการไปประชุมที่นิวยอร์ก เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้พบปะกับประธานบริหารการลงทุนและประธานบริหารการเงินของ Google ซึ่งหารือถึงการทำงานร่วมกัน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยโดยรวม นับจากนั้นเป็นต้นมา คณะทำงานของทั้งสองฝ่าย ต้องขอขอบคุณทาง Google ประเทศไทย และทีมงานของตนที่ได้ทำงานกันอย่างหนักเชิงรุกร่วมกันอย่างเข้มแข็ง จนบรรลุถึง MOU ความร่วมมืออย่างเป็นทางการ ระหว่างไทยและ Google ที่การประชุมเอเปค กลางเดือนที่ผ่านมา ความร่วมมือทั้งสองฝ่ายประกาศร่วมกัน 4 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ การต่อยอดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจดิจิทัล เช่น การลงทุนขยาย Data Center ในประเทศไทย การส่งเสริมการใช้ Cloud และ AI อย่างมีความรับผิดชอบและปลอดภัย เพื่อยกระดับการให้บริการของภาครัฐ การวางหลักการเกี่ยวกับนโยบายการใช้งานระบบ Cloud เป็นหลัก หรือที่เรียกว่า Cloud first Policies และการทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงทักษะด้านดิจิทัลได้มากขึ้น” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้ประกาศนโยบายการใช้ระบบ Cloud เป็นหลัก ซึ่งจะเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างแข็งแรงในยุคเศรษฐกิจ AI รัฐบาลได้จัดทำนโยบายและแผน เพื่อเป็นกรอบการขยายงานใช้งาน Cloud และเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเน้นการใช้งาน Public Ground ที่มีมาตรฐานในการดูแลข้อมูลของภาครัฐ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจะเป็นผู้ขับเคลื่อนนโยบาย เน้นบูรณาการด้านเทคโนโลยี Cloud กับการดำเนินงานของภาครัฐ ซึ่งทำให้เกิดผลในเชิงปฏิบัติโดยเร็ว โดยอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต่อไป
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้นอกจากจะเร่งให้เกิดการยกระดับการให้บริการในภาครัฐแล้ว ยังยกระดับขีดความสามารถของประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดหมายการลงทุนของระบบบริษัทชั้นนำของทั่วโลก ทั้งนี้ เรากำลังวางแนวทางจัดแผนในหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้มีมาตรฐาน ลดความซ้ำซ้อน เพิ่มการป้องกันการคุกคามภัยทางไซเบอร์อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งชาติได้คิกออฟการทำงานไปแล้ว ต้นปีหน้าเราจะเห็นแผนการทำงานที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และเรื่องอัปสกิลรีสกิล ตนยินดีอย่างยิ่งที่ได้เห็นความร่วมมือกับ Google และกระทรวงและหน่วยงานราชการ ซึ่งจะพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรและหน่วยงานภาครัฐทั้งหมด ทำให้การบริการพี่น้องประชาชนได้ดียิ่งขึ้น เริ่มโครงการนำร่องใช้ในงานของภาครัฐ ความร่วมมือดังกล่าว
“ต้องขอบคุณกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ในการส่งเสริมผลักดันความร่วมมือกับ Google และบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำอื่นของโลก ทั้งในเรื่อง AI Cloud และความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ การดำเนินการเชิงรุกของรัฐบาล ยกระดับเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลยุคใหม่ และดีใจที่วันนี้เรามีการร่วมมือกับทาง Google จะทำงานกันต่อไป โดยไม่ทิ้งคนไทยคนไหนไว้ข้างหลัง” นายเศรษฐา กล่าว
ด้านนาย Karan Bajwa Vice President Asia Pacific Google Cloud กล่าวว่า จากผลการวิจัยพบว่า หากภาคส่วนและองค์กรต่างๆ ในประเทศไทยนำนวัตกรรม AI มาใช้งาน จะสามารถปลดล็อกผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้อย่างน้อย 2.6 ล้านล้านบาท ภายในปี 2573 อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์แบบดั้งเดิม ยังขาดความสามารถในการปรับขนาดและความยืดหยุ่น เพื่อรองรับความต้องการด้าน AI ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ความสามารถของเทคโนโลยี Cloud AI ที่ออกแบบมาเพื่อการใช้งานระดับองค์กรโดยเฉพาะ กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรม เราจึงได้ร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการร่างนโยบาย Go Cloud First เพื่อสร้างแนวทางที่ชัดเจนขึ้นสำหรับองค์กรต่างๆ ในการเข้าถึงความสามารถเหล่านี้อย่างรวดเร็ว ภายใต้ความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงคมนาคม และสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ เราจะดำเนินการในขั้นตอนต่อไปในการเตรียมความพร้อมให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการแก่ประชาชน ในการสร้างและปรับใช้โซลูชัน Generative AI โดยใช้ความสามารถของ Cloud AI ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการความร่วมมือ โดยมีเป้าหมายทำให้องค์กรต่างๆ ได้รับประโยชน์ที่มีอยู่ Generative AI เพื่อช่วยพลิกโฉมเศรษฐกิจประเทศไทย และสร้างประโยชน์ในวงกว้างต่อคนไทยทุกคนได้อย่างรวดเร็ว.-316.-สำนักข่าวไทย