กรุงเทพฯ 14 ก.ค.- กฟน.เตือนไม่มีอุปกรณ์ช่วยประหยัดไฟได้ ต้องปรับพฤติกรรมการใช้ไฟ้ฟ้าเท่านั้น ขออย่าหลงเชื่อโฆษณาในสื่อสังคมออนไลน์
นายวิชชา ชาครพิพัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนา การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อซื้ออุปกรณ์ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าที่ขณะนี้โฆษณาขายอยู่ในสื่อสังคมออนไลน์ยี่ห้อหนึ่ง ที่ขณะนี้อ้างว่า สามารถช่วยลดค่าไฟฟ้าลงได้กว่าร้อยละ 50 จนมีผู้หลงเชื่อสั่งซื้อไปใช้งานจำนวนมาก และหลายรายเปิดเผยว่า อุปกรณ์ดังกล่าว ไม่ช่วยประหยัดไฟได้จริงตามที่โฆษณาเอาไว้ และเมื่อติดต่อกลับไปก็ไม่สามารถติดต่อได้ วิธีประหยัดไฟฟ้าได้จริง
กฟน.แนะนำวิธีการประหยัดไฟฟ้าด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า โดยเปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าเฉพาะเวลาที่ต้องการใช้งานและปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าในเวลาที่ไม่ได้ใช้งานรวมถึงการปรับตั้งค่าการทำงานของอุปกรณ์ไฟฟ้าให้เหมาะสมโดยเฉพาะการปรับตั้งอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศไม่ควรต่ำกว่า 26 องศาเซลเซียส ซึ่งการปรับตั้งอุณหภูมิที่ต่ำเกินไปจะทำให้เครื่องปรับอากาศต้องทำงานหนักขึ้น ส่งผลให้สิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้ามากขึ้นด้วย อีกวิธีการหนึ่งที่ช่วยประหยัดไฟฟ้าได้คือ การเปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง เช่นหลอดไฟฟ้าชนิดแอลอีดี เครื่องปรับอากาศชนิด inverter หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่รับฉลากอุปกรณ์ประหยัดพลังงานเป็นต้น
สำหรับอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้าที่จำหน่ายผ่านสื่อสังคมออนไลน์นั้น อาจเข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภค โดย กฟน.ตรวจสอบพบมี 3 ลักษณะคือแบบแรก เป็นกล่องหรือตู้ที่มีสายไฟสำหรับเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้าส่วนใหญ่ภายในเป็นเพียงตัวเก็บประจุและประเภทที่ภายในไม่มีส่วนที่เป็นวงจรไฟฟ้าเลย มีเพียงวัสดุสำหรับถ่วงน้ำหนักบรรจุไว้เท่านั้น แบบที่สอง เป็นอุปกรณ์สำหรับเสียบเข้ากับเต้ารับไฟฟ้าโดยตรงและแบบที่สุดท้าย เป็นบัตรสำหรับติดหรือแปะกับตู้จ่ายไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ไฟฟ้า
นายวิชชา กล่าวว่า อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้าแม้จะมีอยู่จริง แต่ตามปกติจะใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่ถูกเรียกเก็บค่าเพาเวอร์แฟคเตอร์เท่านั้น เช่น กิจการขนาดกลาง กิจการขนาดใหญ่ หรือกิจการเฉพาะอย่างเท่านั้น ไม่ใช้อุปกรณ์สำหรับใช้ในบ้านพักอาศัยแต่อย่างใด-สำนักข่าวไทย