กรุงเทพฯ 19 ธ.ค. – กทม. เปิดพื้นที่ลงนามถวายพระพร สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ให้ทรงหายจากพระอาการประชวร 575 แห่งทั่วกรุง
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 27/2565 ว่ากรุงเทพมหานครได้จัดพื้นที่สำหรับลงนามถวายพระพร สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ให้ทรงหายจากพระอาการประชวร ณ บริเวณศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า (กทม.1) ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง (กทม.2) สำนักงานเขต 50 เขต โรงเรียนในสังกัด กทม. ศูนย์บริการสาธารณสุขทุกแห่ง โรงพยาบาลในสังกัด กทม. และหน่วยงานราชการในสังกัด รวม 575 แห่ง ขอเชิญชวนทุกภาคส่วนและประชาชน ร่วมลงนามถวายพระพรและส่งใจให้พระองค์ท่าน
เดินหน้าจัดระเบียบจุดผ่อนผันต่อเนื่อง รถพ่วงข้างขึ้นทางเท้าจับปรับเหมือนรถจักรยานยนต์
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อว่า ขณะนี้เริ่มมีนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาในประเทศ ก็จะเห็นหาบเร่แผงลอยเพิ่มมากขึ้นในจุดต่างๆ ช่วงแรกจะดูเรื่องจุดผ่อนผันก่อน ซึ่งในช่วงเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ดูทั้งหมด 16 จุด ส่วนเดือน ก.พ. 66 จะเพิ่มอีก 29 จุด และเดือน พ.ค. 66 จะทำอีก 50 จุด โดยเป็นจุดที่มีอยู่แล้วแต่ปรับให้มีระเบียบเข้มข้นขึ้น ซึ่งมีเคสตัวอย่างเป็นต้นแบบ 8 จุด เช่น ถนนข้าวสาร แถวบางนา เป็นต้น
นอกจากนี้จะเห็นรถพ่วงข้างเพิ่มมากขึ้นด้วย ได้กำชับห้ามรถพ่วงข้างขึ้นมาขายของบนทางเท้าเด็ดขาด ถ้ามีให้ปรับสูงสุดตามระเบียบเหมือนนำรถจักรยานยนต์ขึ้นบนทางเท้า รวมถึงใช้กล้อง CCTV เข้ามาช่วยในการจับปรับผู้กระทำผิดภายใน 20 นาที แต่จริงๆ ในเรื่องนี้มี 2 มิติ ด้านหนึ่งเป็นความยากลำบากของคน แต่อีกด้านเป็นความระเบียบเรียบร้อยของเมือง ก็จะหาจุดที่สมดุลให้ได้ แต่ไม่มีนโยบายที่ผ่อนปรนเรื่องนี้ จุดผ่อนผันที่มีอยู่ขณะนี้อยู่ระหว่างทบทวนว่าจะมีจุดไหนเพิ่มขึ้นไหม อาจหาจุดที่เหมาะสมรองรับผู้ละเมิดที่มีจำนวนมาก
ปรับลดงบปรับปรุงสวนลุมพินี เน้นความเป็นสวนสาธารณะและธรรมชาติ
ส่วนการปรับปรุงส่วนลุมพินีนั้น ก่อนหน้านี้มีนโยบายปรับปรุงสวนลุมพินีในโอกาสครบรอบ 100 ปี ใช้งบประมาณ 1,800 ล้านบาท ซึ่งรวมถึงการพัฒนาสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ด้วย แต่เราอยากให้สวนสาธารณะเป็นสวนสาธารณะที่แท้จริง ไม่อยากให้มีสิ่งปลูกสร้างเยอะ ให้สวนสาธารณะมีสภาพที่เป็นธรรมชาติจริงๆ จึงได้มีการปรับลดงบประมาณลง ขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 180 ล้านบาท หลักๆ จะทำพวกทางเดิน ความปลอดภัย แสงสว่าง ท่อระบายน้ำ ทางเดินเชื่อมระหว่างสวนลุมพินีและสวนเบญจกิติ ย้ายสนามแบดมินตันทำทางเชื่อมเพื่อเพิ่มความสะดวกและให้ผู้พิการขึ้นลงได้ นำสิ่งปลูกสร้างเดิมหรืออาคารเดิมที่มีอยู่มาปรับใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด รวมถึงพิจารณาการทำพลังงานหมุนเวียนภายในสวน ทำระบบโซลาร์เซลล์ และสิ่งต่างๆ
นอกจากนี้จะเพิ่มสวนสาธารณะที่สามารถนำสัตว์เลี้ยงเข้าไปในสวนได้มากขึ้น เช่น สวนรถไฟ สวนลุมพินี และสวนสาธารณะย่อยในพื้นที่เขตอีก 4 สวน ดูตัวโครงการให้ชัดเจนก่อน แล้วหารือเรื่องงบประมาณกับทางรัฐบาลอีกครั้ง ซึ่งโฉนดที่ดินน่าจะยังเป็นของรัชกาลที่ 6 ก่อนที่จะทำอะไรก็จะต้องหารือกับทางสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ก่อน ซึ่งอยากทำอีก 2 ส่วน คือ Hawker Center (ศูนย์อาหารที่อยู่ตรงข้างโรงพยาบาลจุฬาฯ) นำหาบเร่แผงลอยมาอยู่ตรงนี้ เป็นแหล่งอาหารราคาถูก อีกส่วนหนึ่งคือ ที่จอดรถ ถ้าสามารถพัฒนาให้มีที่จอดรถเพิ่มขึ้นจะช่วยอาคารใกล้เคียงให้สามารถใช้ร่วมกันได้ ซึ่งมีแนวทางให้เอกชนมาลงทุน แต่ต้องหารือกับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ให้ชัดเจนก่อน
เตรียมพร้อมดูแลความปลอดภัยช่วงเทศกาลปีใหม่
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการดูแลความปลอดภัยช่วงเทศกาลปีใหม่ว่า กรุงเทพมหานครไม่ได้จัดงานปีใหม่ เน้นให้เอกชนเป็นผู้จัดมากกว่า โดยกรุงเทพมหานครจะเป็นผู้สนับสนุนและดูแลด้านความปลอดภัย ซึ่งในปีนี้กรุงเทพมหานครร่วมกับวัดสุทัศน์ฯ จัดงานครบรอบ 215 ปี บริเวณลานคนเมือง และไม่ให้มีการเล่นดอกไม้ไฟ การจุดพลุต้องมีการขออนุญาต จะมีการออกประกาศห้าม เนื่องจากมีอันตราย ซึ่งจะคล้ายกับเทศกาลลอยกระทง และขอให้ทุกคนมีความสุขและระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยเป็นสำคัญ
พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมามีการสำรวจสถานบริการที่มีความเสี่ยงเกือบ 300 แห่ง แต่จากข้อมูลที่ได้รับมีทั้งหมดประมาณ 650 แห่ง ซึ่งทั้ง 650 แห่ง เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่และเป็นสถานที่ปิด จุคนได้มาก ต้องมีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ก็จะมีการลงพื้นที่ดูความพร้อมของสถานที่และความพร้อมในการจัดงาน แนวทางการจัดงาน การเตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัย รวมถึงหารือกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการดูแลความปลอดภัยในจุดต่างๆ
ด้าน รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า พื้นที่ที่ท่านปรึกษาฯ พูดเป็นร้านที่มีการตรวจสอบอยู่แล้ว แต่มีพื้นที่อีกลักษณะหนึ่ง คือพื้นที่จัดงานใหญ่ เช่น ลานเซ็นทรัลเวิลด์ ที่ต่อเนื่องมาสยามพารากอน สยามสแควร์ รวมถึงไอคอนสยาม ที่ขอจัดงาน ซึ่งได้มีการประสานผู้ประกอบการเข้าช่วยบริหารจัดการพื้นที่ โดยมีพื้นที่ให้เจ้าหน้าที่อยู่ประจำหากเกิดเหตุจะได้สามารถเข้าระงับเหตุได้ง่าย จะมีการทำแผนร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในส่วนของบ้านเรือนที่อาจไปเที่ยวช่วงปีใหม่และไม่มีใครอยู่บ้าน ได้มอบหมายสำนักงานเขตและสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยตรวจสอบพื้นที่รกร้าง เฝ้าระวังเรื่องอัคคีภัย พร้อมทั้งบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในการเฝ้าระวังด้านความปลอดภัยต่างๆ และขอความร่วมมือประชาชนให้ตรวจสอบบ้านเรือนให้เรียบร้อยก่อนออกจากบ้าน.-สำนักข่าวไทย