กทม. 18 ต.ค.- จับตา SCF ที่ปรึกษาต่างประเทศ กสทช. ทุนจดทะเบียนต่ำ 1 ล้าน รับงานดีลกว่า8 แสนล้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แหล่งข่าวจากวงการโทรคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีพิจารณารวมกิจการทรู-ดีแทคล่าช้าจนสร้างความเสียหายแก่ผู้ถือหุ้นรายย่อยทรูและดีแทคว่า แม้จะมีการฟ้องร้องถึงความล่าช้า แต่ก็ยังมีประเด็นให้ กสทช.ได้เลื่อนการพิจารณาและลงมติการควบรวมทรู-ดีแทคจากวันที่ 12 ต.ค.65 ไปในวันที่ 20 ต.ค.65 โดยมีรายงานว่า กรรมการ กสทช.จำนวน 3 คน ไม่ลงมติ คือ ดร.พิรงรอง รามสูต ดร.ศุภัช ศุภชลาสัย และพลอากาศโทธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ซึ่งได้ให้เหตุผลต้องการรอรายงานผลการศึกษาจากที่ปรึกษาอิสระต่างประเทศที่จะส่งมาให้ในวันที่ 14 ต.ค.65 แต่ปรากฎว่า รายงานผลการศึกษาดังกล่าวได้หลุดออกมาเผยแพร่สู่สาธารณะอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 14 ต.ค.65 เรื่อยมา จึงทำให้มีการตั้งข้อสังเกตและเกิดความสงสัยจากสังคม ทั้งนี้ เมื่อได้ค้นหาสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทที่ปรึกษาอิสระรายนี้ รวมถึงการกระบวนการว่าจ้างที่ปรึกษาอิสระจากต่างประเทศดังกล่าว ซึ่งเป็นรายใหม่เพิ่มเติม จากเดิมที่สังคมทั่วไปทราบเพียงว่ามีการแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด เป็นที่ปรึกษาอิสระตามประกาศการรวมธุรกิจ ปี 2561 และ กสทช.ได้แต่งตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นที่ปรึกษาอิสระเพิ่มเติมเพื่อศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบจากการรวมธุรกิจ โดยพบว่า การแต่งตั้งที่ปรึกษาอิสระรายนี้ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาต่างประเทศ อาจจะไม่เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตามหลักเกณฑ์ของระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ซึ่งระบุว่ากสทช.ต้องจ้างที่ปรึกษาฯที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษา ก.การคลัง แต่ที่ปรึกษารายนี้มีสำนักงานจดทะเบียนอยู่ที่ประเทศอังกฤษ จากข้อมูลพบว่าพนักงานเพียง 1 คน จึงไม่น่าจะมีคนไทยร่วมงานด้วย แสดงให้เห็นว่าที่ปรึกษารายนี้ไม่มีคุณสมบัติและประสบการณ์ตามที่กำหนดใน TOR และไม่มีความน่าเชื่อถือเพียงพอที่จะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาอิสระในการวิเคราะห์และให้ความเห็นในการรวมธุรกิจครั้งนี้ซึ่งมีมูลค่ากว่า 8 แสนล้านบาท
“จากการตรวจสอบพบด้วยว่า บริษัทที่ปรึกษานี้เป็นบริษัทต่างประเทศ ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการคนต่างด้าว และไม่ได้เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจการเป็นที่ปรึกษาในกิจการโทรคมนาคมแต่ประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ซอฟแวร์ และมีทรัพย์สิน (asset) คิดเป็นเงินไทยแค่ประมาณ 1 ล้านบาท รวมทั้งไม่พบว่ามีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์เกี่ยวกับการรวมธุรกิจในกิจการ มีเจ้าของบริษัทมีเพียง 1 ราย และ ผู้บริหารมีเพียง 1 ราย เท่านั้น อีกทั้งไม่มีประสบการณ์ของบริษัท ด้านโทรคมนาคมในต่างประเทศ จะเข้าข่ายเงื่อนไขของ กสทช หรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม” แหล่งข่าว กล่าว

แหล่งข่าว ยังตั้งข้อสังเกตถึงกระบวนการคัดเลือก ที่มาและประสบการณ์ของที่ปรึกษาด้วยว่า เหตุใด กสทช.ไม่คำนึงถึงกรอบเวลาตามกฎหมาย จนอาจเกิดความเสียหาย การที่ กสทช. มีมติเห็นชอบการจ้างที่ปรึกษาต่างประเทศรายนี้ในวงเงิน 10 ล้านบาทตั้งแต่ 27 เมษายน 2565 และทำสัญญาจ้าง เมื่อ 15 สิงหาคม 2565 ในวงเงิน 6 ล้านกว่าบาท ใช้เวลาเกือบ 4 เดือนเป็นการดึงเวลาให้ล่าช้าหรือไม่ ในการดำเนินการจ้าง ส่งรายงานครั้งที่ 1 ไปแล้วเมื่อ 15 กันยายน 2565 ครั้งที่ 2 เมื่อ 15 ตุลาคม 2565 ซึ่งปรากฏว่ามีมือดีปล่อยเอกสารรายงานครั้งที่2 ที่เป็นข้อมูลลับทางราชการหลุดออกมาสู่สาธารณะ ทั้งนี้มีกำหนดส่งรายงานฉบับสุดท้ายในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 จึงเป็นที่น่าติดตามต่อไปว่า กสทช.จะเล่นบทบาทอย่างไรในวันที่20 ตุลาคมนี้ ที่ กสทช.ได้นัดประชุมเพื่อพิจารณาการควบรวมกิจการทรู-ดีแทค หลังจากที่ประกาศเลื่อนเมื่อ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยอ้างเหตุผลรอรายงานผลการศึกษาของที่ปรึกษาอิสระจากต่างประเทศ ทั้งที่ข้อเท็จจริงมีทั้งที่ปรึกษาเดิม และมีความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกาประกอบการพิจารณาตัดสินใจอย่างครบถ้วน เพียงพอต่อการลงมติ ไม่มีเหตุให้ต้องยื้อหรือถ่วงเวลาการพิจารณาลงมติออกไปอีก.-สำนักข่าวไทย