วอชิงตัน 23 มิ.ย.- กระแสต่อต้านการเหยียดผิวที่กำลังสั่นคลอนสหรัฐอยู่ในขณะนี้เริ่มลุกลามไปเป็นการโค่นรูปปั้นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทาสในสหรัฐ จากเดิมที่ได้รับการเคารพนับถือและห้ามแตะต้อง
การโค่นล้มรูปปั้นในสหรัฐเริ่มจากรูปปั้นนายพลฝ่ายสมาพันธรัฐหรือฝ่ายใต้ เพราะเป็นฝ่ายปกป้องการมีทาส แต่ขณะนี้เริ่มลุกลามไปถึงรูปปั้นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์แม้แต่ผู้ก่อตั้งประเทศอย่างโทมัส เจฟเฟอร์สัน ประธานาธิบดีคนที่สาม จอร์จ วอชิงตัน ประธานาธิบดีคนแรก ทีโอดอร์ รูสเวลต์ ประธานาธิบดีคนที่ 26 ล่าสุดเมื่อวานนี้กลุ่มผู้ประท้วงพยายามโค่นรูปปั้นขี่ม้าของแอนดรูว์ แจ็คสัน ประธานาธิบดีคนที่ 7 ใกล้ทำเนียบขาว แต่ถูกตำรวจขัดขวางได้ทัน
เจฟเฟอร์สัน เป็นหนึ่งในผู้ร่วมประกาศเอกราชสหรัฐ แต่ข้อมูลในเว็บไซต์พิพิธภัณฑ์ของเขาที่ดัดแปลงมาจากไร่ในรัฐเวอร์จิเนียระบุว่า เขามีทาสกว่า 600 คน และมองว่าคนดำด้อยกว่าคนขาว ขณะที่วอชิงตัน มีทาสราว 100 คนในไร่เมานท์เวอร์นอน รัฐเวอร์จิเนีย ส่วนรูสเวสต์ ทางการนครนิวยอร์ตัดสินใจย้ายรูปหล่อโลหะของเขาออกจากทางเข้าพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอเมริกาแม้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ไม่เห็นด้วย ทางการให้เหตุผลว่า รูปปั้นเขานั่งบนหลังม้า มีคนดำและคนพื้นเมืองยืนขนาบข้าง บ่งบอกถึงการควบคุมและเหนือกว่าอย่างชัดเจน
แคโรลีน กัลลาเฮอร์ อาจารย์มหาวิทยาลัยอเมริกันในกรุงวอชิงตันมองว่า การประท้วงขณะนี้เป็นการทำสงครามกับประวัติศาสตร์อเมริกันที่เล่าขานสืบต่อกันมาในรูปของอนุสาวรีย์ การตั้งอนุสาวรีย์ในที่สาธารณะเป็นรูปแบบหนึ่งของการให้ความเคารพนับถือ คนเริ่มตั้งคำถามว่าเหตุใดจึงเคารพคนที่เป็นเจ้าของทาส เธอเองซึ่งเติบโตในเวอร์จิเนีย เป็นรัฐทางตะวันออกเฉียงใต้และอดีตหนึ่งใน 13 สมาพันธรัฐมองว่า ประชาชนไม่ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์จากรูปปั้น เพราะฉะนั้นคนก็ยังสามารถศึกษาเรื่องจอร์จ วอชิงตันได้แม้ไม่มีรูปปั้นแล้ว ด้านแดเนียล โดมินิกส์ อาจารย์ประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยไรซ์ในเมืองฮิวตัน รัฐเทกซัส ชี้ว่า การทำลายรูปปั้นไม่สามารถลบล้างอดีตได้ แต่ควรมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์อเมริกันที่ถูกบันทึกไว้ในหนังสือและพิพิธภัณฑ์ พร้อมกับแนะว่า ควรมีแผ่นป้ายคำบรรยายเพิ่มเติมติดที่รูปปั้นของเจฟเฟอร์สัน.- สำนักข่าวไทย