ปักกิ่ง 11 ม.ค.- คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีนแถลงข่าวที่กรุงปักกิ่งว่า ตั้งแต่จีนมีโยบายปี 2559 ให้คู่สมรสมีลูกได้ 2 คนหลังจากใช้นโยบายลูกคนเดียวมานาน พบว่าครึ่งหนึ่งของทารกแรกเกิดช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเป็นลูกคนที่สองของครอบครัว ซึ่งชี้ชัดได้ว่าเป็นผลดีจากการเปลี่ยนนโยบายให้มีลูกได้สองคน แม้ว่าอัตราเกิดยังลดลงก็ตาม
นักประชากรศาสตร์จีนวิเคราะห์เหตุผลที่อัตราเกิดลดลง ข้อหนึ่งคือ ผู้หญิงในวัยตั้งครรภ์มีจำนวนลดลง ประชากรหญิงอายุระหว่าง 15-49 ปีมีจำนวนมากที่สุดเมื่อปี 2554 แต่เริ่มลดลงหลังจากนั้น และเป็นเหตุให้ทารกแรกเกิดลดตามไปด้วย ซึ่งลงมาอยู่ที่ปีละ 15-18 ล้านคนตั้งแต่ปี 2543 ข้อที่สองคือ จากข้อมูลปี 2558 พบว่าอายุของผู้หญิงวัยตั้งครรภ์ในจีนจำนวนกว่าครึ่งหนึ่งอายุ 40 กว่าปีขึ้นไปทั้งนั้น ซึ่งกระทบอัตราเกิดเช่นกัน ปัจจัยที่สามคือ คนแต่งงานกันน้อยลงหรือช้าลง มีจำนวน 10.63 ล้านรายปี 2560 ลดลงร้อยละ 7 จากปีก่อนนั้น สถาบันศึกษาด้านสังคมศาสตร์จีนรายงานว่า ประชากรจีนจะหดตัวในช่วง 8 ปีหากอัตราเกิดลดลงเรื่อยๆ คาดว่าจำนวนประชากรที่มีอยู่ 1,390 ล้านคนในปี 2560 จะลงมาอยู่ที่ 1,172 ล้านคนในปี 2608 ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาและประชากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเหรินหมิน ยูนิเวอร์ซิตี ออฟ ไชนาบอกว่า ข้อมูลดังกล่าวแสดงว่า รัฐจะต้องให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและสังคมในการเลี้ยงดูบุตรมากขึ้น ผลสุ่มสำรวจความเห็นหลายคนพบว่า พ่อแม่กังวลที่จะต้องเลี้ยงดูลูก ทั้งต้องจ่ายค่าบ้าน ต้องทำงาน ซึ่งรัฐควรออกนโยบายสนับสนุนทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น ที่อยู่อาศัย จ้างงาน สิทธิคลอดบุตร ลดภาษี ลาคลอด และเลี้ยงดูบุตร จีนบังคับใช้นโยบายให้แต่ละครอบครัวมีลูกได้คนเดียวมาตั้งแต่ปี 2523 เป็นผลให้อัตราเกิดในแต่ละปีดิ่งลงจาก 28 ล้านคนเมื่อปี 2533 มาอยู่ที่ 14 ล้านคนในปี 2542 จนกระทั่งอัตราเกิดดิ่งหนักทำให้จีนออกนโยบายให้มีลูกคนที่สองได้เมื่อปี 2559 หวังกระตุ้นอัตราเกิดให้เพิ่มมาที่ 20 ล้านคน .- สำนักข่าวไทย