ชิคาโก 4 มิ.ย.- ผลการศึกษาการรักษามะเร็งเต้านมครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแรกส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องรับการรักษาด้วยเคมีบำบัดที่มีผลข้างเคียงรุนแรง สิ่งสำคัญคือควรตรวจยีนเพื่อหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสม
คณะนักวิจัยให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแรก 10,273 คน รับการตรวจอองโคไทป์ดีเอ็กซ์ เป็นการตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อมาตรวจการทำงานของยีนที่เกี่ยวข้องกับการเติบโตของเซลล์และการตอบสนองต่อฮอร์โมนบำบัด เพื่อประเมินความเสี่ยงที่มะเร็งจะกลับมาเป็นซ้ำ ผู้ป่วยร้อยละ 17 มีความเสี่ยงสูงจึงแนะนำให้รับคีโม ร้อยละ 16 มีความเสี่ยงต่ำจึงแนะนำว่าไม่ต้องรับคีโม ที่เหลือร้อยละ 67 มีความเสี่ยงปานกลาง กลุ่มหลังสุดนี้ผ่าตัดและรับฮอร์โมนบำบัดทุกคน ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งยังรับเคมีบำบัดเพิ่มด้วย ผ่านไป 9 ปี กลุ่มหลังสุดยังมีชีวิตอยู่ร้อยละ 94 ที่สำคัญร้อยละ 84 ไม่มีสัญญาณของมะเร็งกลับมาเป็นซ้ำด้วย แสดงว่าการรับเคมีบำบัดไม่ให้ผลแตกต่างแต่อย่างใด
ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งเต้านมชี้ว่า การตรวจยีนด้วยวิธีอองโคไทป์ดีเอ็กซ์ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในสหรัฐประมาณ 4,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 128,100 บาท) และวิธีแมมมาปรินต์ จะช่วยแก้ปัญหาใหญ่เรื่องการแยกแยะผู้ป่วยว่าจำเป็นต้องรับเคมีบำบัดหรือไม่ เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มักคิดว่า หากใม่รับเคมีบำบัดจะไม่รอด ขณะที่บางคนยืนกรานไม่ยอมรับเคมีบำบัดเลย ผลการศึกษานี้จะช่วยให้ผู้ป่วยยอมรับคำแนะนำของแพทย์มากขึ้น.-สำนักข่าวไทย