พนมเปญ 7 มี.ค.- องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ระบุว่า สถานการณ์โดยรวมของอุตสาหกรรมประมงไทยเป็นไปในทางที่ดีขึ้น แต่แรงงานยังคงเสี่ยงถูกละเมิดอยู่
ไอแอลโอออกรายงานที่ได้จากการสอบถามแรงงานประมงในไทย 434 คน พบว่า นายจ้างพร้อมปฏิบัติตามระเบียบใหม่ ๆ เช่น การจ่ายค่าแรงตามค่าจ้างขั้นต่ำ การออกสัญญาจ้างงาน แต่ก็มีสิ่งบ่งชี้การบังคับใช้แรงงานหลายอย่างโดยเฉพาะกับแรงงานจากกัมพูชาและเมียนมา เช่น จ่ายค่าจ้างล่าช้าหลายเดือน ยึดเอกสารประจำตัวเพื่อไม่ให้ลาออก ไอแอลโอระบุว่า ผู้ซื้อรายใหญ่ต้องการให้อุตสาหกรรมประมงแข่งขันได้แต่ก็ต้องมีชื่อเสียงในทางที่ดี จึงต้องมีระเบียบที่เข้มงวดขึ้น การบังคับใช้ระเบียบเหล่านี้จะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในเร็ว ๆ นี้ เรื่องนี้เป็นเดิมพันสูงมากของไทยเพราะอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลสร้างรายได้ให้ไทยมากถึง 6,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 206,830 ล้านบาท) เมื่อปี 2557 จ้างงานคนไม่ต่ำกว่า 600,000 คนเมื่อปีก่อน ในจำนวนนี้ 302,000 คนเป็นแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนแล้ว
รายงานของไอแอลโอแจกแจงตัวเลขจากการสำรวจว่า แรงงานประมงร้อยละ 24 ได้รับค่าจ้างล่าช้าหลายเดือน ร้อยละ 33 ถูกยึดเอกสารประจำตัว ขณะที่แรงงานในโรงงานแปรรูปอาหารทะเลได้รับการปฏิบัติดีกว่า มีเพียงร้อยละ 7 ที่ถูกยึดเอกสาร และทุกคนได้รับค่าจ้างตรงตามเวลา.- สำนักข่าวไทย