กรุงเทพฯ 31 ต.ค.- ประเด็นการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร ซึ่งเรื่องนี้โฆษก กทม. ออกมาย้ำว่าอนุญาตให้ขายได้เฉพาะร้านอาหารที่ผ่านมาตรฐาน SHA เท่านั้น ขณะที่ผู้ประกอบการบนถนนข้าวสารก็ออกมาโวย เพราะไม่มีร้านไหนเตรียมตัวทัน
ร.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร มีมติในเห็นชอบประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 45) ในการเปิดให้บริการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร และเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวและประชาชนนั้น ขอให้ผู้ประกอบการร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มดำเนินการปรับปรุงสถานประกอบการให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตใหม่ เพื่อยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และเข้ารับการตรวจประเมินความพร้อมมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย SHA รวมทั้งเคร่งครัดช่วงเวลาการให้บริการให้อยู่ภายในเวลา 21.00 น. ตามที่กำหนด พร้อมขอให้ร่วมมือผู้ประกอบการขอรับมาตรฐาน SHA เพราะในอนาคตต้องยึดมาตรฐานดังกล่าวเป็นหลัก โดยเฉพาะสถานประกอบการที่มีความเสี่ยง อาทิ ผับ บาร์ คาราโอเกะสามารถทยอยขอล่วงหน้าไว้ก่อนได้ เพราะมีแนวโน้มว่าเดือนหน้าจะผ่อนคลายให้สถานบริการที่มีความเสี่ยงกลับมาเปิดบริการได้
สำหรับผู้ประกอบที่มีข้อท้วงติงเรื่องระยะเวลาในการขอรับรองมาตรฐาน SHA ที่ใช้เวลานานกว่า 2-3 สัปดาห์ ซึ่งอาจไม่ทันกับการเปิดให้บริการนั้น โฆษก กทม. เผยหลังเปิดประเทศ และผ่อนคลายมาตรการต่างๆ มากขึ้น ทาง ททท. ก็จะมีการเพิ่มจำนวนทีมงาน คาดว่าจะทำให้การดำเนินการรวดเร็วยิ่งขึ้น
(SHA หรือ Safety & Health Administration) คือ แนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานภาคสมัครใจสำหรับผู้ประกอบการ หรือ ข้อกำหนดเบื้องต้นที่สถานประกอบการพึงมี เพื่อป้องกัน COVID-19 ซึ่งมาจากมาตรการด้านสาธารณสุขบวกกับมาตรฐานของสินค้าทางการท่องเที่ยว ดังนั้นสัญลักษณ์ SHA จะเป็นการรับรองคุณภาพของสถานประกอบการนั้นๆ โดยผู้ประกอบการต้องยื่นเรื่องขอผ่านสมาคม เช่น สมาคมโรงแรม เมื่อได้รับสัญลักษณ์แล้ว ผู้ประกอบการจะถูกประเมินโดยผู้ใช้บริการผ่านช่องทางแอปพลิเคชัน รวมถึงมีการสุ่มตรวจจากหน่วยงานภายใต้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นระยะ
โดยขณะนี้สถานประกอบการที่ได้รับมาตรฐาน SHA และ SHA+ ในกรุงเทพมหานคร มีทั้งหมด 3,386 รายการ
ส่วนขั้นตอนการขอรับมาตรฐาน SHA และ SHA+
1.ผู้ประกอบการต้องเข้าไปลงทะเบียนขอรับการประเมินที่ เว็บไซต์ thailandsha.com จากนั้นก็เลือกหมวดหมู่กิจการ ซึ่งมีทั้งหมด 10 กิจการ เช่น เมื่อเลือกกิจการ ภัตตาคาร/ร้านอาหาร
2.ระบบก็จะให้เรากรอกข้อมูลรายละเอียดของสถานประกอบการ กรอกรายละเอียดตามขั้นตอน
– ตอบคำถามตามแบบฟอร์ม Checklist
– แนบภาพถ่ายประกอบ
– เอกสารอื่นๆ
3. สมาคมฯ ก็จะดำเนินการตรวจสอบ Checklist และรับรองผล Checklist
4. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) รวบรวมขั้นตอนสุดท้าย
5. จากนั้นก็จะเป็นขั้นตอนการมอบตราสัญลักษณ์
6. คณะกรรมการฯ สุ่มตรวจสถานประกอบการ
7. ประชาสัมพันธ์บนเว็บไซต์
ส่วนข้อกำหนดมาตรฐาน SHA สำหรับผู้ประกอบการ (ภัตตาคาร / ร้านอาหาร) ประกอบด้วยอะไรบ้าง
1. จัดให้มีทางเข้า-ออกทางเดียว
2. จัดให้มีการตรวจวัดอุณหภูมิของพนักงานและผู้รับบริการทุกครั้ง
3. บันทึกประวัติพนักงาน และประวัติการเดินทาง
4. อนุญาตให้เฉพาะผู้ที่สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยเข้าใช้บริการเท่านั้น
5. จัดให้มีที่ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ก่อนเข้าร้านอาหาร/จุดชำระเงิน
6. จำกัดจำนวนคนเข้าร้าน
7. ทำความสะอาดจุดนั่งรับประทานอาหาร ก่อนและหลังการให้บริการ
8. ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสของสถานที่และพื้นที่จุดสัมผัสร่วม ทุก 2ชั่วโมง
9. อาหารปรุงสำเร็จ ให้มีการปกปิดอาหาร ใช้อุปกรณ์สำหรับหยิบจับหรือตักอาหาร
10. จัดให้มีถังขยะที่มีฝาปิด คัดแยกขยะ
11. จัดให้มีการระบายอากาศที่เพียงพอ
12. จัดให้มีการชำระเงินค่าบริการผ่านระบบออนไลน์
13. จัดให้มีการสื่อสาร/ประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ความเข้าใจ อย่างเคร่งครัด
14. ลดการใช้เสียงภายในภัตตาคาร/ร้านอาหาร
ทางฟากผู้ประกอบการในพื้นที่กรุงเทพ ที่ต่างก็เตรียมสินค้าเหล้า-เบียร์ไว้ให้บริการลูกค้าในวันพรุ่งนี้ ก็ได้ออกมาแสดงความไม่พอใจ ที่รัฐอนุญาตให้จำหน่ายเหล้า-เบียร์เฉพาะร้านที่ได้มาตรฐาน SHA เท่านั้น เผยไม่มีร้านไหนเตรียมตัวทัน
นายสง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจบนถนนข้าวสาร เผยว่าในถนนข้าวสารมีร้านอาหาร และร้านนั่งดื่มรวมกว่า 100 ร้าน ได้รับผลกระทบจากประกาศฉบับนี้อย่างเต็มๆ เพราะแทบไม่มีร้านไหนลงทะเบียนรับมาตรฐาน SHA เพราะแรกเริ่มที่ทาง ททท.ออกมาให้ข้อมูลเรื่องนี้มุ่งเน้นไปที่โรงแรม ซึ่งส่วนใหญ่โรงแรมในย่านข้าวสารจะเป็นเกสต์เฮาส์ ส่วนร้านอาหาร ร้านนั่งดื่มก็ไม่ได้รับการแจ้งให้ลงทะเบียน จึงไม่มีร้านไหนได้ดำเนินการ ตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา หลังประกาศยกเลิกเคอร์ฟิว ผู้ค้าต่างก็เตรียมกลับมาเปิดร้านในวันจันทร์ 1พ.ย.นี้ แต่เมื่อวานกลับมีคำสั่งให้ขายเฉพาะร้านที่มีมาตรฐาน SHA เท่านั้น ส่วนตัวมองว่าสิ่งที่ภาครัฐทำไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการที่โดยเฉพาะร้านกินดื่ม ทั้งๆที่ร้านเหล่านี้ไม่ได้มีรายได้มาเกือบ 2 ปี เมื่อจะเปิดประเทศ เหตุใดจึงไม่แจ้งให้ผู้ประกอบการทราบล่วงหน้า จะได้เตรียมตัวล่วงหน้า
โดยในวันพรุ่งนี้ ผู้ประกอบการบนถนนข้าวสารจะประชุมเพื่อหาทางออกร่วมกันเพื่อนำข้อสรุปไปหารือกับ กทม. พร้อมเตรียมเสนอมาตรการคัดกรองกันเอง บริเวณทางเข้าและออก ที่หัวและท้ายถนน หากใครไม่มีหลักฐานยืนยันได้วัคซีน 2 เข็ม และผลตรวจ ATK ที่เป็นลบ ก็จะไม่ให้เข้า เหมือนที่ทำสำเร็จคัดกรองคนเข้าออกในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพราะถ้าหากรอลงทะเบียน กว่าจะได้รับการประเมินและยืนยันต้องใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ หรืออาจจะมากกว่านั้น ถือเป็นการเสียโอกาส และสูญเสียรายได้ในช่วงที่จะสามารถกลับมามีความหวัง และลืมตาอ้าปาก เป็นจำนวนมหาศาล คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุป และนำไปเสนอกับ กทม.ภายในสัปดาห์นี้
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า พรุ่งนี้เป็นวันแรกที่เปิดประเทศรับผู้เดินทางและนักท่องเที่ยวต่างชาติ และแม้ว่าจะมีการผ่อนคลายกิจการกิจกรรมต่างๆ มากขึ้นในแต่ละพื้นที่ แต่สิ่งสำคัญ คือยังต้องปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ อย่างเข้มข้น โดยเฉพาะมาตรการส่วนบุคคล ป้องกันตนเอง เว้นระยะห่าง ล้างมือ สวมหน้ากาก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดการติดเชื้อและแพร่เชื้อ ส่วนสถานประกอบการต่างๆ ยังต้องเข้มมาตรการ COVID Free Setting เพื่อให้เป็นสถานที่ปลอดโควิด เปิดประเทศอย่างปลอดภัย.-สำนักข่าวไทย