ทำเนียบรัฐบาล 2 ก.ย. – ศบศ.อัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 6.8 หมื่นล้าน แจกเงินคนละ 3,000 บาท รวม 15 ล้านคน จับจ่ายใช้สอย ลดค่าครองชีพ สั่งคลังเร่งสรุปภายใน 2 สัปดาห์ พร้อมจ้างงานบัณฑิตจบใหม่ 2.6 แสนตำแหน่ง
นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมศูนย์บริหราสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ ศบศ.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ศบศ.เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 2 มาตรการหลัก ได้แก่ มาตรการแรก คือ มาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศวงเงิน 45,000 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน ส่งเสริมการบริโภค และช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยทั่วไปครอบคลุมถึงผู้ประกอบการหาบเร่แผงลอย โดยรัฐบาลจะช่วยค่าใช้จ่ายร้อยละ 50 อีกร้อยละ 50 ผู้ซื้อจะต้องจ่ายเองในวงเงินไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน เพื่อเอาไปใช้จ่ายซื้อของ ซึ่งจะต้องมาลงทะเบียนรับสิทธิ์ในโครงการลักษณะเดียวกับชิมช้อปใช้
สำหรับกลุ่มเป้าหมายผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยอายุ 18 ปีขึ้นไป ประมาณ 15 ล้านคน ให้เวลาใช้ 3 เดือน โดยจะกำหนดให้ใช้วันละ 100-250 บาท คาดจะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบ 90,000 ล้านบาท กลุ่มร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการจะมุ่งเน้นไปที่ร้านค้ารายย่อยทั่วไปครอบคลุมถึงผู้ประกอบการหาบเร่ แผงลอย ประมาณ 80,000 ร้านค้า ผ่านกลไกการดำเนินงานผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของรัฐบาล โดยที่ประชุมมีมติให้กระทรวงการคลังจัดทำรายละเอียดโครงการ เพื่อนำเสนอต่อ ศบศ.ภายใน 2 สัปดาห์
“มาตรการแจกเงิน 3,000 บาท ทาง ศบศ.ให้กระทรวงการคลังไปดูรายละเอียดและนำกลับมาเสนอ ศบศ.เห็นชอบอีกครั้ง เพื่อเข้า ครม. คาดว่าจะเริ่มโครงการเดือนตุลาคม 2563” นายดนุชา กล่าว
สำหรับมาตรการที่ 2 คือ มาตราการการจ้างงานสำหรับเด็กจบใหม่โดยรัฐบาลสมทบจ่ายกับนายจ้าง ระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 – ตุลาคม 2564 วัตถุประสงค์หลักเพื่อสนับสนุนการจ้างงานผู้จบการศึกษาใหม่ใน 3 กลุ่ม ได้แก่ ระดับปริญญาตรี ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) รวม 260,000 อัตรา วงเงินรวม 23,000 ล้านบาท เป็นงบประมาณจากเงินกู้เพื่อเยียวยาในสถานการณ์โควิด-19 เน้นช่วยเหลือนักศึกษาจบใหม่ให้มีงานทำทันที โดยมีอัตราค่าจ้าง ตามวุฒิการศึกษาดังนี้ ปริญญาตรี เดือนละ 15,000 บาท ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เดือนละ 11,500 บาท และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เดือนละ 9,400 บาท ซึ่งรัฐบาลจะให้การ สนับสนุนเงินค่าจ้าง ร้อยละ 50 ของเงินเดือนตามวุฒิการศึกษา สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาทต่อคนต่อเดือน
ทั้งนี้ อยู่ภายใต้ เงื่อนไขสำคัญ คือ นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจะต้องอยู่ในระบบประกันสังคม มีการยืนยันตัวตนผ่าน กระทรวงแรงงาน และต้องมีเงื่อนไขเลิกจ้างลูกจ้างเดิมไม่เกินกว่าร้อยละ 15 ภายในระยะเวลา 1 ปี (กรณีที่ลูกจ้าง ลาออกในระหว่างโครงการ นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการสามารถหาลูกจ้างใหม่ทดแทนได้) ขณะที่ลูกจ้างที่จะเข้าร่วมโครงการจำเป็นต้องมีคุณสมบัติดังนี้ สัญชาติไทย และอายุไม่เกิน 25 ปี หรืออายุเกินกว่า 25 ปี ซึ่งสำเร็จการศึกษาปี 2562 หรือปี 2563
สำหรับโครงการนี้รัฐบาลจะเปิดให้นายจ้างและนักศึกษาจบใหม่ลงทะเบียนและจ่ายเงินเดือนผ่านธนาคารกรุงไทย นายจ้างจ่ายร้อยละ 50 เข้าบัญชี และรัฐบาลโอนอีกร้อยละ 50 เข้าบัญชี ส่วนการหักเงินประกันสังคมจะเป็นไปตามกฎหมาย ส่วนการทำสัญญาแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ นายจ้างกับลูกจ้าง และนายจ้างกับกระทรวงแรงงาน เพื่อกำหนดให้ชัดเจนว่านายจ้างจะต้องไม่ผิดเงื่อนไข คาดว่าจะมีนักศึกษาจบใหม่เข้าร่วมเป็นไปตามเป้าหมาย
นอกจากนี้ ศบศ.ยังเห็นชอบให้จัดงาน Jobexpro ภายในเดือนกันยายน เตรียมหารือวัน-เวลาอีกครั้ง โดยงานนี้จะมีอัตราตำแหน่งงานกว่า 1 ล้านตำแหน่ง ผ่านระบบ “ไทยมีงานทำ” ซึ่งเป็นระบบจ็อบแพลตฟอร์มที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสภาพัฒน์ร่วมกันจัดทำขึ้นมา ซึ่งจะมีตำแหน่งงานว่างต่าง ๆ ทั้งงานประจำ พาร์ทไทม์ และรอเปิดตัวแอปพลิเคชั่นเพื่อการใช้งานต่อไป . – สำนักข่าวไทย